นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า รัฐบาลไทยกำลังจะหลงเกมเข้าสู้ในเวทีศาลโลกอีกด้วย ขณะที่นายอภิสิทธิ์และรัฐบาลยังมีท่าทีในการเคลื่อนย้ายราษฎรไทยกลับไปยังถิ่นฐานและปิดศูนย์อพยพ โดยอ้างว่าสถานการณ์สงบแล้ว แต่ปรากฎว่าเมื่อคืนที่ผ่านมากลับมีการปะทะกันจนทำให้มีทหารเสียชีวิตอีก 1 นาย ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ยังไว้วางใจไม่ได้
"แสดงว่ารัฐบาลสนใจแต่ที่จะเอาชนะกันทางการเมือง ที่ต้องการย้ายผู้คนกลับถิ่นฐานเดิม เพื่อสร้างภาพว่าสถานการณ์สงบแล้ว ก่อนที่จะมีการยุบสภา โดยไม่สนใจแม้แต่น้อยว่ากองกำลังกัมพูชาอยู่ในจุดสูงข่มที่สามารถทำร้ายราษฎรไทยได้ตลอดเวลา ไม่มีหลักประกันใดว่าราษฎรไทยจะปลอดภัยอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ขอประณามรัฐบาลกัมพูชาที่ไม่ทำตามข้อตกลงหยุดยิงที่มีต่อกับฝ่ายไทย ในขณะเดียวกันก็ต้องตำหนิรัฐบาลไทยที่ไม่ผลักดันกัมพูชาออกจากจุดล่อแหลมที่สามารถทำร้ายราษฎรไทยได้ แล้วไปปิดศูนย์อพยพให้ประชาชนกลับถิ่นฐาน จนเกิดเหตุปะทะและสร้างความสุ่มเสี่ยงให้กับประชาชนในทางที่ไม่ควรจะเป็น" นายปานเทพ กล่าว
ในส่วนกรณีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเตรียมนำเรื่องการขึ้นต่อสู้ในศาลโลก ตามที่ฝ่ายกัมพูชาได้ยื่นคำร้องเพื่อให้ขยายผลตีความคำพิพากษาของศาลโลกต่อกรณีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 รวมทั้งกรณีการแต่งตั้งทนายชาวฝรั่งเศสเข้าสู่การพิจารณของคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (3 พ.ค.)
นายปานเทพ กล่าวว่า หากรัฐบาลยังดื้อดึงที่จะใช้ทนายความจากประเทศฝรั่งเศส ตนเป็นห่วงว่าอาจมีเหตุให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะทนายกลุ่มนี้อาจมีความรักชาติมากกว่าการดำเนินการในวิชาชีพตัวเอง เหตุเพราะฝรั่งเศสได้มีสัมปทานน้ำมันกับปัใมพูชา และยังเป็นอดีตเจ้าอาณานิคม จึงมีพฤติกรรมอย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนกัมพูชา ทั้งยังเป็นผู้เขียนแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนขึ้นมาฝ่ายเดียว โดยที่สยามและกัมพูชาต้องใช้มาโดยไม่ถูกต้อง
โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวอีกว่า หากฝ่ายไทยต้องไปขึ้นศาลโลกจริง ต้องไม่ไปสู้ในเรื่องเนื้อหาสาระต่อไป ควรที่จะไปสู้ในประเด็นเดียวว่าศาลโลกไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยตีความเกินกว่าคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ซึ่งฝ่ายไทยก็ไม่ควรยอมรับหากมีตีความเกินขอบเขตดังกล่าว มิเช่นนั้นรัฐบาลไทยอาจได้ชื่อว่าต้องการการประทับตรารับรองจากศาลโลก เพียงเพื่อต้องการฟอกความผิดจากกรณีเอ็มโอยู 2543 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เห็นว่ารัฐบาลไทยควรเชื่อในข้อเสนอของ ศ.สมปอง สุจริตกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ให้ไทยยกเลิกเอ็มโอยู 2543 และถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก รวมทั้งผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย ดังนั้นรัฐบาลควรเชิญให้ ศ.ดร.สมปองมาร่วมเป็นทีมทนายในครั้งนี้ โดยเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจทั้งหมด มิใช่เพียงที่ปรึกษา หรือคณะกรรมการที่อาจต้องฟังมติเสียงส่วนใหญ่ เพื่อให้ประชาชนไว้วางใจในการต่อสู้คดีความครั้งนี้