นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทยเปิดนโยบายหาเสียงของพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่ออาสาแก้ปัญหาแทนรัฐบาลที่ไม่มีผลงานเป็นรูปธรรมให้กับคนกรุงเทพ ภายใต้แนวคิด"คืนความสุข.. เพิ่มความสะดวกสบาย..ให้คนกรุงเทพมหานครและลงมือทำ..ทันที..เพื่อกรุงเทพเมืองน่าอยู่"โดยจะมีนโยบายที่สอดคล้องกันกับนโยบายระดับประเทศที่เปิดไปแล้วเมื่อ 23 เมษายน ที่ผ่านมา
นโยบายดังกล่าวจะเน้นไปที่การเพิ่มชีวิตความเป็นอยู่ให้กับชีวิตที่ดีกว่าด้วยการเดินทางที่สะดวกสบายมากขึ้น และเหมาะสมกับค่าครองชีพมากขึ้นด้วยรถไฟฟ้า 10 เส้นทางระยะทางรอบกทม.ประมาณ 400 กม.ในราคา 20 บาทตลอดสาย และตามเส้นทางรถไฟฟ้าจะมีศูนย์ Bangkok Life Style Center ที่จะทำให้แต่ละสถานีเป็นสถานที่เรียนรู้ด้านความทันสมัยของโลก
นอกจากนี้ยังมีนโยบายในการติดตั้งระบบ wifi ฟรีทุกจุดทั่ว กทม.รวดเร็วด้วย 4G 20 เม็กเพื่อรองรับเทคโนโลยีสื่อสารแบบไร้สายให้กับคนกรุงเทพฯ ดุจเมืองใหญ่ที่ทันสมัยทั่วโลก นอกจากนี้ปัญหาเรื่องสถานศึกษาของเด็กในกรุงเทพนั้นพรรคมีนโยบายที่จะให้เด็กๆในกทม.ได้เรียนโรงเรียนดีใกล้ๆบ้าน และ สร้างโอกาสในการตั้งตัวให้คนรุ่นใหม่ด้วย"กองทุนเถ้าแก่น้อย"
ขณะที่การพัฒนาเมือง จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็น"กรุงเทพเมืองน่าอยู่.." โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก กับแนวคิดในการแก้ไขปัญหาในรูปแบบ“ลาก่อน! น้ำท่วม กรุงเทพฯ“โดยจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯอย่างถาวรด้วยนโยบายเร่งจัดทำเขื่อนรอบกทม. การบริหารจัดการ ของ กทม.จะเร่งเสนอกฎหมายเพื่อการกระจายอำนาจของฝ่ายบริหาร กทม.เพื่อให้มีการดูแลประชาชนในกรุงเทพฯอย่างทั่วถึงและจะเร่งจัดระเบียบเมืองด้วยผังเมือง กทม.เฉกเช่นเมืองเจริญของโลก ซึ่งจะเป็นแนวนโยบายเพื่อใช้ในการหาเสียงในช่วงแห่งการสุญญากาศของความเจริญในกทม.มากว่า 3 ปีที่ผ่านมา
ด้านนาย วิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาคกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ภาคกทม.แบ่งกลุ่มการทำงานของว่าที่ผู้สมัครเป็น 3 กลุ่มๆละ 11 ท่านตามประสบการณ์ความรู้และความสามารถ เช่น กลุ่มบริหารเศรษฐกิจกทม.ประกอบด้วย ผู้สมัครที่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เช่น ดร.ภูวนิดา คุนผลิน ดร.ธีรรัตน์ สำเร็จวานิช เป็นต้น
ส่วนกลุ่มที่ 2 จะเป็นกลุ่มการบริหารสังคมที่มีประสบการณ์ในเรื่องการแก้ไขปัญหาชุมชน ปัญหาครอบครัว ปัญหายาเสพติด ส่วนกลุ่มที่ 3 จะเป็นผู้มีประสบการณ์ในการบริหารเมือง อาทิ ผู้สมัครที่เคยเป็น สข.สก.และสส.ที่มากประสบการณ์ในการบริหารเมือง