พันธมิตรฯ จี้รัฐบาลไม่รับอำนาจศาลโลกกรณีกัมพูชาร้องขอตีความคำพิพากษา

ข่าวการเมือง Wednesday May 4, 2011 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรียกร้องให้รัฐบาลไม่รับอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ(ไอซีเจ) หรือศาลโลก กรณีกัมพูชายื่นคำร้องให้วินิจฉัยคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร เนื่องจากไม่วางใจกรณีที่รัฐบาลไปว่าจ้างนักกฎหมายชาวฝรั่งเศสให้เข้ามาทำหน้าที่แก้ต่าง

ทั้งนี้ ประเทศกัมพูชาได้เผยแพร่คำร้องต่อศาลโลกให้พิจารณาใน 3 ประเด็น คือ 1.ขอให้ขยายหรือตีความในขอบเขตคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 โดยอาศัยธรรมนูญศาลโลกในมาตรา 60 2.ขอให้ทหารไทนถอนตัวออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร และ 3.ขอให้กองกำลังสหประชาชาติได้เข้ามาปฏิบัติการหรือขึ้นมาประจำการบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อไม่ให้มีการปะทะกัน

โดยขั้นตอนการยื่นคำร้องเพิ่มเติมนี้ ศาลโลกจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการพิจารณาว่าจะรับฟ้องหรือไม่ ก่อนแจ้งมายังประเทศกัมพูชา หากรับฟ้องก็จะให้เวลาในการส่งคำชี้แจงไปภายใน 2 เดือน หลังจากนั้นจะให้สิทธิ์ฝ่ายไทยในการส่งคำชี้แจงเป็นระยะเวลา 2 เดือนเช่นเดียวกัน

โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า ฝ่ายกัมพูชาพยายามอ้างถึงคำพิพากษาของศาลโลกเดิมในหน้าที่ 21 ที่อ้างถึงเฉพาะในส่วนของกฎหมายปิดปากว่า ไทยต้องยอมรับในเรื่องของพื้นที่และเส้นเขตแดนด้วย ดังนั้นกลุ่มพันธมิตรฯ และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทยจึงจำเป็นต้องหยิบยกถ้อยคำในท้ายของคำพิพากษาศาลโลกเมื่อปี 2505 ซึ่งปรากฎอยู่ในหน้าที่ 29 ซึ่งระบุว่า คำแถลงของกัมพูชาที่ขอให้ศาลชี้ขาดเรื่องสภาพทางกฎหมายของแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนและเรื่องเส้นเขตแดนในพื้นที่พิพาทนั้นจะรับฟังได้ในชั้นของการแสดงเหตุผล ซึ่งไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ต้องกล่าวถึงในบทปฏิบัติการของคำพิพากษาเดิม

โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า ตามคำร้องของกัมพูชาแสดงว่าขอบเขตของคำพิพากษานั้นไม่ได้รับรองแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน รวมทั้งเรื่องเส้นเขตแดนด้วย ซึ่งรัฐบาลไทยในยุคนั้นก็ไม่ยอมรับคำร้อง โดยอ้างเหตุว่าถ้อยความในคำร้องไม่ชัดเจน ไม่สามารถระบุได้ว่าพื้นที่ที่กัมพูชาเรียกร้องอยู่ที่ใด โดยเฉพาะขอบเขตคำพิพากษาตัดสินเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น

ดังนั้น เราจึงไม่มีความกังวลหากศาลโลกมีการตีความแม่นยำอย่างถูกต้องยุติธรรมแล้ว หมายความว่าไม่สามารถวินิจฉัยเกินขอบเขตเดิมได้ และตามธรรมนูญศาลโลก มาตรา 60 ที่ระบุให้มีการยื่นอุทธรณ์ภายใน 10 ปี ซึ่งปัจจุบันเลยมากว่า 39 ปีแล้ว การอุทธรณ์จึงทำไม่ได้ ส่วนการตีความในคำพิพากษาเดิมก็ทำไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะคำพิพากษาเดิมระบุขอบเขตที่ชัดเจนเหนือตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น

"สิ่งที่รัฐบาลต้องทำตอนนี้คือการตัดฟ้อง ไม่ยอมรับในอำนาจของศาลโลก แต่ที่เราเป็นห่วงมากที่สุดคือการหลงผิดที่นำคณะทนายชาวฝรั่งเศสเข้ามาทำหน้าที่ เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกัมพูชาในหลายเรื่อง จึงไม่สามารถไว้วางใจทีมทนายชุดนี้ได้ เพราะการต่อสู้ครั้งนี้มีความสำคัญต่อประเทศชาติมาก" นายปานเทพ กล่าว

โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า การที่กัมพูชาร้องขอให้ส่งกองกำลังสันติภาพของสหประชาชาติเข้ามาในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชานั้นไม่น่าจะเป็นอำนาจของศาลโลก แต่ต้องอยู่การพิจารณาและตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติ(ยูเอ็นเอสซี) เท่านั้น โดยหากสมาชิกถาวรประเทศใดประเทศหนึ่งคัดค้านก็ไม่สามารถส่งกองกำลังเข้ามาแทรกแซงได้ ซึ่งในเวทียูเอ็นเอสซีนี้ ไทยจึงควรยืนยันตามกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 2(7) ที่ห้ามสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศใด รวมทั้งมาตรา 51 ที่ให้สิทธิประเทศในการป้องกันตัวเอง หากถูกโจมตีโดยอาวุธ หมายความว่า หากถูกรุกรานจากประเทศอื่น เราก็มีสิทธิในการตอบโต้โดยชอบธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ