"เพื่อไทย"จัดเสวนารับฟังความเห็นจากภาคเอกชนเพื่อนำไปจัดทำนโยบายพรรค

ข่าวการเมือง Wednesday May 4, 2011 15:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พรรคเพื่อไทย(พท.) จัดงานเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนในหัวข้ออนาคตเศรษฐกิจกับนโยบายพรรคเพื่อไทย เพื่อนำไปใช้ในการจัดทำนโยบาย โดยมีแกนนำพรรคฯ เดินทางมาร่วมงานอย่างคับคั่ง เช่น นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรค, นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคฯ, นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธาน ส.ส.ภาค กทม., นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง, นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมช.คลัง, นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ อดีต รมช.พาณิชย์ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภาค กทม. นอกจากนี้ยังมีตัวแทนหอการค้าไทย-จีนเข้าร่วมการเสวนาด้วย

"พรรคเพื่อไทยมีความจำเป็นจะต้องรับทราบปัญหาของประชาชนในทุกๆ ภูมิภาคของประเทศว่าแต่ละภาคส่วนนั้นมีปัญหาอะไรบ้าง งานในวันนี้ก็เป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เพราะแนวทางนี้จะเป็นทางเดียวที่จะนำพาประเทศไปสู่ความสุขได้ โดยที่ไม่มีใครเป็นผู้นำหรือผู้ตาม แต่จะเป็นการให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำและรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุน" นายยุงยทธ กล่าว

ทั้งนี้นโยบายเศรษฐกิจของพรรคฯ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การพัฒนาศักยภาพของประเทศ เช่น การทำระบบป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพฯ และภาคกลาง รวมไปถึงการพัฒนาระบบน้ำทั้งประเทศ การสร้างรภไฟฟ้า 10 สายในพื้นที่กรุงเทพฯ และจะมีการเก็บค่าบริการเพียง 20 บาทตลอดสาย การทำรถไฟรางคู่เชื่อมชานเมือง

ส่วนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน คือ นโยบายขจัดยาเสพติดใน 12 เดือนภายหลังจากการเข้าทำหน้าที่รัฐบาล การขจัดความยากจนให้หมดไปภายใน 4 ปี รวมไปถึงการสร้างกองทุนหมู่บ้านฯ โดยยกระดับเป็นธนาคารชาวบ้าน และที่สำคัญคือการพักหนี้ครัวเรือนที่ต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างน้อย 3 ปี ซึ่งให้แขวนหนี้เอาไว้ก่อน และพอมีรายได้ค่อยนำมาใช้ นอกจากนี้ยังมีนโยบายเก่าๆ ที่เคยทำในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, โอท๊อป, งบองค์กรท้องถิ่น 25 เปอร์เซ็นต์, การจำนำข้าวเปลือก 15,000 บาท

ขณะเดียวกันพรรคฯ ยังได้เปิดนโยบายประชาธิปไตยเพื่อการปรองดอง คือ จะต้องมีการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรม ปราศจากการแทรกแซงจากบุคคลและองค์กรใดๆ และทุกฝ่ายจะต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง ไม่มีการใช้อำนาจนอกระบบแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลที่ค่ายทหารอย่างที่ผ่านมา สถาบันทหารต้องมีไว้เพื่อพิทักษ์เอกราช ไม่ใช้กำลังทหารเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา ทั้งนี้จะไม่มีการใช้สถาบันฯ มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง นอกจากนี้ยังจะต้องคืนความเป็นธรรมและเยียวยาผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำที่สืบเนื่องจากการทำรัฐประหารปี 2549

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปที่ได้จากการเสวนาครั้งนี้ พรรคฯ จะรวบรวมส่งไปให้ พ.ต.ท.ทักษิณ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ