นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลหักโหมเร่งประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) แบบหามรุ่งหามค่ำน่าจะเกิดความไม่รอบคอบและไม่ชอบมาพากลในหลายเรื่อง เพราะบางโครงการน่าจะมีการสอดไส้หรือเอื้อประโยชน์ต่างตอบแทนกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล
"เทงบแบบฝนตกทั้ง ครม.เปียกไปทุกกระทรวง ทบวง กรม เรียกว่าปิดประตูสุมหัวปล้นงบประมาณแบบไม่เกรงกลัวสายตาใคร เป็นมหกรรมสวาปามทิ้งทวนครั้งมโหฬาร ตะกละตะกลามข้ามวันข้ามคืน เป็นการประชุม ครม.นัดปาร์ตี้อำลาของรัฐบาลชูชก" นายพร้อมพงศ์ กล่าว
โฆษกพรรค พท.กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศจนถึงวันสุดท้ายก็มีข่าวเหล่านี้แทบไม่เว้นแต่ละวัน ไม่รู้ตายอดตายอยากมาจากไหน ตนเองขอสาปแช่งให้คนที่ทุจริตโกงกินงบประมาณของประชาชนท้องแตกตาย ไม่ได้กลับมาบริหารบ้านเมืองสร้างเวรสร้างกรรมให้ประชาชนอีกต่อไป
ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ กล่าวว่า การประชุม ครม.เมื่อวานนี้ (3 พ.ค.) คาดว่าจะเป็นนัดสุดท้ายก่อนที่จะมีการยุบสภาจึงมีการอนุมัติโครงการและงบประมาณมหาศาลกว่า 200 วาระ ถือเป็นเรื่องที่น่าเกลียดและกระทำผิดประเพณี เสมือนเป็นการเร่งรีบทิ้งทวนในการอนุมัติงบประมาณแผ่นดินในช่วงสุดท้าย
"เป็นการกระทำที่ลุแก่อำนาจ ขาดความรอบคอบในการพิจารณา ซึ่งผิดปกติจากมนุษย์ทั่วไปที่จะพิจารณาได้ถึง 200 เรื่องภายใน 1 วัน เท่ากับว่ารัฐบาล โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กระทำการผิดกฎเหล็ก 9 ข้อของตัวเอง ที่บอกว่าจะทำงานโปร่งใส และซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด แต่กลับปล่อยผ่านงบประมาณมหาศาลอย่างมีเงื่อนงำ" นายปานเทพ กล่าว
โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า ต้องบันทึกไว้ว่าสิ่งนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่นักการเมืองไม่สามารถเป็นผู้แก้ไขปัญหาของประเทศได้ ไม่เป็นที่พึ่งของประชาชน กลุ่มพันธมิตรฯ จึงยืนยันที่จะรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งแล้วกาในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนหรือโหวตโน โดยเร็วๆ นี้จะมีการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่ เพื่อติดตั้งด้านหลังเวทีปราศรัยบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ หันหน้าไปทางที่ทำการสหประชาชาติประจำประเทศไทย
ขณะที่ นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา กล่าวว่า การประชุม ครม.แบบมาราธอนเมื่อวานนี้มีการอนุมัติจัดซื้อโครงการต่างๆ มูลค่านับแสนล้านบาท จนถูกมองว่าเป็นการกระทำต่างตอบแทนให้กับกองทัพและพรรคร่วมรัฐบาลนั้น เพราะด้วยเงื่อนเวลาที่รัฐบาลใกล้จะยุบสภาในอีกไม่กี่วันถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และด้วยวาระการพิจารณาที่มีเยอะ ทั้งวาระปกติและวาระจรกว่า 200 วาระ แต่ ครม.มีเวลาพิจารณาน้อยมาก จึงมีข้อกังขาว่าอนุมัติไปด้วยความรอบคอบขนาดไหน
"การอนุมัติก่อนยุบสภาไม่กี่วันถือว่าไม่เหมาะสม ดังนั้นคณะกรรมาธิการฯ จะยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาเพื่อตรวจสอบรัฐบาลต่อไป" นายจิตติพจน์ กล่าว