ประธานวุฒิสภา ระบุการที่ตัวแทนพรรคการเมืองจำนวน 18 พรรคร่วมให้สัตยาบันและลงนามจรรยาบรรณในการหาเสียงเลือกตั้งถือเป็นพันธะสัญญาและแสดงเจตจำนงที่ให้ไว้กับประชาชนว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 3 ก.ค.นี้จะเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามครรลองของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
"การเมืองที่มีรากฐานมาจากความสุจริตและยุติธรรมจะนำไปสู่การยอมรับและช่วยลดความขัดแย้ง ทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง และยังเป็นการสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนในการให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งที่สุจริต" พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา กล่าวระหว่างเป็นประธานการทำพิธีให้สัตยาบันและลงนามจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้ง 2554 ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสภาพัฒนาการเมือง และมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย จัดขึ้นที่อาคารรัฐสภา 2
ขณะที่นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง "กกต.กับความเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง" โดยย้ำว่า กกต.จะจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ให้บริสุทธ์ยุติธรม เพราะวิกฤติความขัดแย้งทำให้เกิดความเสื่อมถอยของประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นวิกฤติของคนในชาติ ดังนั้นหากทุกคนช่วยให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมก็จะแก้วิกฤติได้
"การแข่งขันสามารถทำได้แต่ต้องทำเพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่ต้องการเป็นผู้ชนะ เพราะผู้ชนะที่แท้จริงคือประเทศชาติ และไม่ควรนำสถาบันมาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง" นายสุทธิพล กล่าว
เลขาธิการ กกต. ยอมรับว่า การเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในส่วนของ กกต.ได้เน้นย้ำการทำงาน 7 ข้อ คือ ให้บุคลากรเตรียมใจไม่ต้องกลัว ทำหน้าที่โดยมั่นใจในความเป็นธรรมและเป็นกลาง, เตรียมข้อมูลกติกาการเลือกตั้งต่างๆ และศึกษาเพิ่มเทคนิคให้ทันเล่ห์เหลี่ยมของผู้สมัครที่จะทุจริตการเลือกตั้ง, เน้นวางตัวให้เหมาะสมเป็นกลางสุจริต, ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางไม่ชอบ, ให้เป็นนักประชาสัมพันธ์การทำงานของ กกต. หากมีการกล่าวหาหรือเข้าใจผิดในการทำหน้าที่ก็ขอให้ชี้แจงทำความเข้าใจ, เป็นนักประสานงานที่ดี, เน้นการแก้ไขปัญหาต้นตอการทุจริตไม่ให้เกิดการกระทำผิด และยึดกรอบกติกากฎหมายการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด รวมถึงกรอบเวลาในการสอบสวน
ด้านนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา เรียกร้องให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพื่อเลือกผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ พร้อมขอให้ผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.หรือผู้แทนอย่าลืมตัว เพราะจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร และเบื่อหน่ายสภาจนกระทั่งเกิดกระแสปฏิวัติ ขณะที่การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองควรมีการสอบถามความเห็นจากประชาชนด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรเกิดประโยชน์สูงสุดในการบริหารประเทศ และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิวัติ
ทั้งนี้ ตัวแทนพรรคการเมือง 18 พรรคที่เข้าร่วมพิธีครั้งนี้ ได้แก่ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน, พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่, นายวิทยา แก้วภราดัย ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์, นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย เป็นต้น โดยมีสักขีพยาน ได้แก่ ตัวแทนจากผู้นำศาสนา และตัวแทนทูตจากประเทศต่างๆ