นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าจะมีทีมล่วงหน้าของอินโดนีเซียเข้ามาสำรวจพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ก่อนที่จะมีทีมสังเกตการณ์เต็มชุดเข้ามาว่า เป็นเพียงการเลี่ยงใช้ภาษาว่าเป็นทีมสำรวจพื้นที่ล่วงหน้าไม่ใช่ทีมสังเกตการณ์ ซึ่งพอภาคประชาชนเตรียมจะออกมาเปิดเผยข้อมูล รัฐบาลจึงรีบออกมาแถลงยอมรับว่าเป็นคณะจากต่างชาติเข้ามา แต่ไม่บอกว่าเป็นคณะทหารหรือตำรวจ
อย่างไรก็ดี กระบวนการนี้เป็นการดำเนินการตามข้อตกลงร่วมกัน(ทีโออาร์) ของรัฐมนตรีต่างประเทศ 3 ฝ่าย คือ ไทย, กัมพูชา และอินโดนีเซีย ที่มีการลงนามกันเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาในการประชุมที่ประเทศอินโดนีเซีย
นายปานเทพ กล่าวว่า ในทีโออาร์ดังกล่าวได้จัดชุดทางออก (Package of Solutions) ที่กำหนดเงื่อนเวลาไว้ 3 ช่วง คือ 1.ลงนามและแลกเปลี่ยนทีโออาร์ พร้อมประกาศประชุมคณะกรรมาธิการชายแดนทั่วไป(จีบีซี) และคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม(เจบีซี) 2. ภายหลังจากนั้น 5 วัน ส่งทีมสำรวจพื้นที่เข้ามา พร้อมเริ่มการประชุมเจบีซีหรือจีบีซี และ 3.ถัดจากนั้นอีก 5 วัน ส่งทีมสังเกตการณ์เต็มุดจากอินโดนีเซีย พร้อมติดตามผลการประชุมเจบีซีและจีบีซี
โดยเงื่อนไขเหล่านี้อยู่ในส่วนของการสรุปข้อตกลงที่ทั้ง 3 ฝ่ายลงนาม โดยที่ไม่มีเงื่อนไขที่ให้ทหารและชุมชนชาวกัมพูชาถอนตัวออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม. รอบปราสาทพระวิหารแต่อย่างใด
"ไม่ว่านายกฯ จะเรียกคณะดังกล่าวว่าทีมสำรวจล่วงหน้า หรือทีมสังเกตการณ์ ตราบใดที่มีวัตถุประสงค์ไม่ให้เกิดการปะทะนั้น ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้กัมพูชายึดครองแผ่นดินไทยโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ดังนั้นรัฐบาลต้องไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ และต้องให้กัมพูชาออกไปก่อนเป็นเงื่อนไขสำคัญ จึงจะเริ่มนับหนึ่งในการเจรจาหรือให้ใครเข้ามาสังเกตการณ์ ไม่ใช่มากำหนดกรอบเวลาเช่นนี้" นายปานเทพ กล่าว
ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีออกมาระบุว่าฝ่ายไทยมีหลักฐานใหม่ในการชี้แจงกับศาลโลก ในวันที่ 30-31 พ.ค. แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้นั้น นายปานเทพ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและมีความละเอียดอ่อนมาก การที่รัฐบาลไม่ยอมเปิดเผยหลักฐานดังกล่าว แสดงว่า 1.รัฐบาลยอมรับอำนาจของศาลโลก แทนที่จะปฏิเสธการยอมรับคำตัดสิน เนื่องจากศาลโลกเป็นเพียงศาลการเมืองระหว่างประเทศ 2.เมื่อรัฐบาลไม่ยอมเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ แต่กลับเปิดเผยให้ทนายความชาวฝรั่งเศส ที่กระทรวงการต่างประเทศว่าจ้างให้ว่าความในศาลโลก ทั้งที่ประเทศฝรั่งเศสมีผลประโยชน์โดยตรงกับกัมพูชา ในฐานะเจ้าอาณานิคม และผลประโยชน์ด้านน้ำมัน ปัญหาเหล่านี้ทำให้ประชาชนมีความเคลือบแคลงสงสัยในพฤติกรรมของรัฐบาล ทำให้คิดได้ว่ามีขบวนการสมรู้ร่วมคิดยกแผ่นดินให้กัมพูชา โดยอาศัยมือของศาลโลก
ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ ตั้งข้อสังเกตว่าการที่รัฐบาลไทยว่าจ้างทนายชาวฝรั่งเศสทำหน้าที่ในศาลโลกนั้น สามารถทำได้หรือไม่ เพราะระเบียบกำหนดไว้ว่าไม่ให้มีคนสัญชาติเดียวกันเกินกว่า 1 คนอยู่ในศาล แต่ในศาลมีผู้แทนของฝรั่งเศสอยู่แล้ว จึงน่าแปลกใจว่าเหตุใดรัฐบาลจึงยังพยายามที่จะใช้ทนายชาวฝรั่งเศส ทั้งที่มีผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ และมีความรู้ในเรื่องข้อพิพาทปราสาทพระวิหารอยู่แล้ว
นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ระบุว่า รัฐบาลมีปัญหาในการทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติ เพราะจากท่าทีล่าสุดของกองทัพทำให้เห็นว่ากองทัพกับรัฐบาลสมรู้ร่วมคิดกัน เพราะจากเดิมที่กองทัพประกาศชัดว่าจะไม่ยอมให้ชุดสังเกตการณ์ของอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่หรือไม่ไปประชุมจีบีซี หากไม่มีการถอนทหารกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทยนั้น แต่สุดท้ายก็ยอมให้ทีมสำรวจล่วงหน้าเข้ามา แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการทำหน้าที่ปกป้องเอกราชของชาติ