พธม.จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาปราสาทพระวิหาร หวั่นโยนเผือกร้อนให้รัฐบาลหน้า

ข่าวการเมือง Friday May 27, 2011 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเชื่อว่าคณะกรรมการมรดกโลกเห็นคล้อยตามฝ่ายไทยในการเลื่อนวาระการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารออกไปก่อนจนกว่าจะมีการปักปันดินแดนไทย-กัมพูชาแล้วเสร็จว่า กรณีนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าในท้ายที่สุดจะสามารถเลื่อนออกไปได้ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พยายามกล่าวอ้างหรือไม่ เพราะกัมพูชายังไม่มีท่าทีว่าจะยอมรับหรือไม่

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการมรดกโลกเองก็ไม่ได้มีความชัดเจนออกมา เนื่องจากเป็นเพียงการกล่าวอ้างถึงความเห็นของผู้อำนวยการองค์การยูเนสโกเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นที่สิ้นสุดว่าจะมีการเลื่อนในหัวข้อดังกล่าวจริงหรือไม่

นายปานเทพ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความเชื่อที่ว่าการเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารได้นั้นเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาแม้แต่น้อย แต่กลับทำให้ปัญหายืดเยื้อไปถึงรัฐบาลชุดหน้า โดยที่ไม่มีหลักประกันว่าจะมีแนวทางต่อเรื่องนี้อย่างไร เพราะไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถให้นโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ได้

ดังนั้นการปล่อยผ่านเรื่องนี้ไปถึงรัฐบาลชุดหน้าเหมือนเป็นการปัดสวะ โยนเผือกร้อน และผลักภาระให้ตกอยู่ภายใต้การตัดสินใจของรัฐบาลชุดถัดไป โดยจากผลการสำรวจล่าสุดมีแนวโน้มว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ซึ่งหากมีการสูญเสียในเวทีมรดกโลกในรัฐบาลชุดหน้าก็จะโทษแต่รัฐบาลชุดหน้าไม่ได้ ต้องโทษรัฐบาลชุดนี้ที่ทิ้งปัญหาไว้โดยไม่แก้ไขและปล่อยให้ยืดเยื้อถึงรัฐบาลชุดหน้า

"แนวทางของพันธมิตรฯ และภาคประชาชนได้ยืนยันมาโดยตลอดว่า ปัญหาเรื่องนี้ควรแก้ไขให้เสร็จสิ้นทันทีก่อนสิ้นสุดรัฐบาลชุดนี้ด้วยการถอนตัวออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก เพื่อประท้วงต่อมติคณะกรรมการมรดกโลกทั้งหมด และไม่ให้ปัญหาบานปลายไปถึงรัฐบาลหน้า" นายปานเทพ กล่าว

โฆษกพันธมิตรฯ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากมีการเลื่อนวาระการพิจารณาเรื่องดังกล่าวจริง ก็เชื่อว่ามีการเจรจาแลกเปลี่ยนต่อรองระหว่างกัน เพราะสิ่งที่ตนรับรู้มาคือ หากคณะกรรมการมรดกโลกตัดสินใจเลื่อนตามที่ไทยเสนอก็ต้องแลกด้วยการขอเข้ามาบูรณะปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ

ตรงนี้ต้องย้ำว่าตัวปราสาทและพื้นที่รอบๆ นั้นได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 51 เหลือเพียงแผนบริหารจัดการเท่านั้นที่ยังมีปัญหาอยู่ โดยที่ฝ่ายไทยก็ไม่ได้มีท่าทีในการปฏิเสธในสิ่งที่คณะกรรมการมรดกโลกได้อนุมัติไปแล้ว ดังนั้นการเดินหน้าบูรณะปฏิสังขรณ์ก็เป็นการตอกย้ำว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกัมพูชา เพราะเป็นการร้องขอโดยฝ่ายกัมพูชา โดยอ้างว่าได้มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการปะทะของฝ่ายไทย เป็นการรุกคืบสร้างหลักฐานเพื่อนำไปใช้ในเวทีนานาชาติ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 05 เช่นเดียวกับที่ยูเนสโกสนับสนุนเงิน 5 หมื่นดอลลาร์ให้กัมพูชานำมาซ่อมและสร้างตลาดในดินแดนประเทศไทย เป็นการละเมิดอธิปไตยของไทยโดยยูเนสโกชัดเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ