พธม.แนะรัฐบาลไทยประกาศไม่ยอมรับคำตัดสินศาลโลกกรณีปราสาทพระวิหาร

ข่าวการเมือง Tuesday May 31, 2011 12:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงการไต่สวนของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศต่อกรณีที่กัมพูชายื่นคำร้องให้ศาลตีความคำตัดสินปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 และออกมาตรการชั่วคราวว่า การชี้แจงของผู้แทนฝ่ายไทยถือว่าใกล้เคียงกับสิ่งที่ภาคประชาชนได้นำเสนอมาโดยตลอด ทั้งการต่อสู้ในเรื่องขอบเขตของศาลโลก และการยืนยันว่าฝ่ายไทยทำตามคำพิพากษาเมื่อปี 2505 อย่างสมบูรณ์แล้ว

ดังนั้น จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าสิ่งที่ภาคประชาชนพยายามพูดมาตลอดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง อย่างไรก็ดียังมีอีกประเด็นที่ฝ่ายไทยไม่หยิบยกไปใช้ในการต่อสู้ครั้งนี้ คือการยืนยันว่าไทยไม่ยอมรับอำนาจของศาลโลก ไม่ว่าจะตัดสินออกมาในแนวทางใด ซึ่งต้องติดตามว่าในการชี้แจงรอบที่ 2 จะมีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาใช้หรือไม่

นายปานเทพ กล่าวว่า หากศาลโลกไม่ฟังในคำชี้แจงของไทยและเดินหน้าออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หรือตีความเพิ่มเติมจากคำพิพากษาศาลโลกเมื่อปี 2505 จะทำให้ไทยตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบอีกครั้ง ดังนั้นคณะทนายความฝ่ายไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องประกาศไม่ยอมรับอำนาจของศาลโลกและไม่รับคำวินิจฉัยเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งยังมีโอกาสในการชี้แจงรอบ 2

"หากไทยประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก ศาลก็ไม่สามารถตัดสินหรือวินิจฉัยใดๆได้ ในอดีตมีหลายกรณีที่คู่กรณีไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลโลก เพราะแต่ละประเทศถือว่ามีเอกราชเป็นของตัวเอง ไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติของศาลโลก" นายปานเทพ กล่าว

โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวว่า มูลเหตุที่ทำให้ฝ่ายไทยต้องไปขึ้นศาลโลกในวันนี้เป็นเพราะไทยมัวแต่ยึด MOU ปี 2543 โดยปล่อยให้กัมพูชาละเมิดในทางปฏิบัติ กัมพูชาจึงอาศัยความอ่อนแอของรัฐบาลและกองทัพไทย สร้างถนน, ฐานทัพ จนเป็นที่มั่นสำหรับการยิงปะทะกับฝ่ายไทย เป็นเหตุทำให้กัมพูชานำสถานการณ์การปะทะนี้ไปเป็นข้ออ้างในการขอให้ศาลโลกออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทั้งที่ก่อนมี MOU ปี 2543 ไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน จึงสรุปได้ว่า MOU ฉบับนี้คือต้นตอของปัญหา

ด้านพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า ในขณะที่เป็นช่วงเวลาสำคัญต่อการสูญเสียดินแดนของประเทศ ทั้งในเวทีศาลโลกต่อเนื่องไปถึงการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก แต่กลับถูกกระแสข่าวเลือกตั้งกลบจนคนไทยให้ความสำคัญน้อยมาก พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ากัมพูชามีความพยายามดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน วางแผนล่วงหน้าที่จะยึดแผ่นดินไทย โดยอ้างถึง MOU ปี 2543 และแผนที่ 1:200,000 เพื่อยืนยันการเป็นเจ้าของพื้นที่ 4.6 ตร.กม.มาโดยตลอด แต่ฝ่ายไทยกลับปล่อยปละละเลยเปิดช่องให้เรื่องไปถึงศาลโลก ที่มีผลกระทบต่อการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกอย่างแน่นอน เพราะหากศาลโลกมีคำสั่งคุ้มครองก็ย่อมที่จะครอบคลุมห้วงเวลาระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก

"กัมพูชาคิดแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนล่วงหน้า แล้วฝ่ายไทยกลับไปเดินตามโดยไม่มีการระวังป้องกัน โดยเฉพาะการขึ้นศาลโลกครั้งนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่มีความจำเป็นใดๆ หรือไม่ต้องไปขึ้นก็ได้ เพื่อเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม แต่กลับไม่ทำอะไร ทำให้ฝ่ายไทยต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนและสามารถทำได้ทันที ขอเพียงรัฐบาลมีความกล้าหาญในการตัดสินใจ" พล.ต.จำลอง กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ