พล.ต.ณพล คชแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก พร้อมด้วยนายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ได้ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอน พ.ร.ฎ.ยุบสภา และระงับการเลือกตั้ง เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ โดยไม่ผ่านการออกเสียงประชามติ และเมื่อวันที่ 11 พ.ค.54 นายกรัฐมนตรีได้ประชุมร่วมกับประธาน กกต.เพื่อกำหนดวิธีการและหลักการหาเสียงไม่ให้กระทบกระเทือนหรืออ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงการทำงานตามอำนาจหน้าที่ของประธาน กกต. นอกจากนี้การหารือดังกล่าวอาจเป็นการให้คุณหรือให้โทษกับพรรคการเมืองอื่น เนื่องจากนายอภิสิทธิ์มีสถานะเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง
โดยคำร้องระบุว่า ประธาน กกต.มิได้คัดค้านหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 2 ปี อีกทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ถือสัญชาติมอนเตเนโกร และได้กำหนดยุทธวิธีในการต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยโดยใช้การโฟนอิน เพื่อกำหนดนโยบายให้พรรคเพื่อไทยและผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งก่อนและหลังมี พ.ร.ฎ.ยุบสภา
นอกจากนี้ ประธาน กกต.ยังไม่ดำเนินการใดๆ กับผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ซึ่งเข้ามาแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลและการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งนายเนวิน ชิดชอบ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นายบรรหาร ศิลปอาชา, นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ
ทั้งนี้ หากศาลไม่ระงับหรือยกเลิก พ.ร.ฎ.ยุบสภา ซึ่งออกโดยมิชอบ และระงับการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ทั้ง 5 คน หรือเพิกถอนการเลือกตั้ง จะทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งขึ้นอีก และขอให้ศาลมีคำสั่งเรียก น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ, นางสดศรี สัตยธรรม และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าให้ข้อเท็จจริงด้วย
นายสมคิด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนเองได้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลปกครองแล้ว แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องโดยระบุว่าไม่อยู่ในอำนาจที่จะฟ้องร้องได้ เนื่องจากต้องรอให้มีการปิดรับสมัครเลือกตั้งก่อนจึงจะถือว่ามีเหตุเกิดขึ้น โดยขณะนี้ถือว่าเหตุเกิดขึ้นแล้วจึงมายื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว