นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์การเลือกตั้งภาค กทม.และผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 17 พรรคเพื่อไทย(พท.) ระบุหัวคะแนนบางพรรครับปากช่วยชาวบ้านเรื่องกู้เงินจากธนาคารอิสลามแลกเปลี่ยนกับการให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับผู้สมัครพรรคการเมืองหนึ่งที่ตนเองให้การสนับสนุนอยู่
"มีหัวคะแนนบางพรรคไปบอกกับชาวบ้านว่า หากช่วยพรรคการเมืองพรรคหนึ่งก็จะได้รับการอำนวยความสะดวกในการกู้เงิน ซึ่งจะต้องหาสมาชิกมาให้จำนวน 10 รายขึ้นไป" นายวิชาญ กล่าว
นอกจากนี้ ตนเองยังได้รับแจ้งด้วยว่า ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ได้มีหนังสือสั่งการไปยังเรือนจำต่างๆ เพื่อขอให้ข้าราชการในเรือนจำทำหนังสือเสนอโยกย้ายตัวเอง ทั้งๆ ที่ข้าราชการส่วนใหญ่ไม่ต้องการโยกย้ายเพราะอยู่มานาน โดยเรือนจำแต่ละแห่งจะมีข้าราชการกว่า 300 คน ซึ่งยังไม่นับจำนวนเสียงของคนในครอบครัวอีก
"ไม่ใช่ช่วงการโยกย้าย ไม่ทราบว่าจะรีบโยกย้ายไปไหน" นายวิชาญ กล่าว
นายวิชาญ กล่าวว่า ตนเองได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านว่า ขณะนี้มีพฤติกรรมของขบวนการซื้อเสียงซึ่งมีวิธีการคล้ายกับแชร์ลูกโซ่ โดยการใช้แบบฟอร์มลงไปล่ารายชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ เลขบัตรประชาชน บ้านเลขที่ ชุมชน ถนน แขวง เขต และจังหวัดอย่างละเอียด เพื่อนำไปตรวจสอบว่าเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ หากเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งก็จะมีการมัดจำล่วงหน้าไว้ก่อนจำนวน 100 บาท ซึ่งจะมีผลต่อคะแนนเสียงอย่างแน่นอนเพราะมีการจูงใจ ซึ่งในหลายเขตก็เริ่มมีพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นบ้างแล้ว ดังนั้นขอให้ กกต.และตำรวจลงไปตรวจสอบโดยด่วนด้วย โดยเฉพาะการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า
นายวิชาญ ได้นำแผนภูมิการซื้อเสียงมาประกอบการแถลงข่าว โดยระบุว่า มีหัวคะแนนใหญ่ในพื้นที่เป็นผู้ถือเงินติดตัว จากนั้นมอบให้หัวคะแนนรองในระดับเขตหรือชุมชนใหญ่จำนวน 5-10 คน และหัวคะแนนย่อย 3-5 คนในแต่ละชุมชนลงไปทำงาน โดยหัวคะแนนย่อยที่เป็นแกนนำในชุมชนจะไปดำเนินการจดรายชื่อและเลขบัตรประชาชน 13 หลักส่งให้กับหัวคะแนน หากหารายชื่อได้ 10 คนจะได้รับค่าจดรายชื่อเพิ่ม 1,000 บาท 20 คนได้รับ 2,000 บาท 30 คนได้รับ 5,000 บาท และ 100 คนจะได้รับ 15,000 บาท
ทั้งนี้ตนเองได้ถ่ายรูปรถตู้คันหนึ่งที่วิ่งวนอยู่ในบริเวณแฟลตแห่งหนึ่งวันละ 3-4 รอบ ซึ่งไม่ทราบว่าจะมีการใช้เป็นที่รับเงินกันหรือไม่ด้วย และตนเองจะทำหนังสือมอบให้ผู้อำนวยการศูนย์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทยไปยื่นต่อ กกต.คาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 7 มิ.ย.พร้อมกับนำหลักฐานทั้งหมดที่ประชาชนมอบให้มาไปมอบให้กับ กกต.ด้วย
ด้านนายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัคร ส.ส. กทม.เขต 11 พท. กล่าวว่า ในเขตเลือกตั้งของตนเองนั้นมีหัวคะแนนบางพรรคใช้วิธีการจดชื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ทั้งเบอร์โทรศัพท์และเลขบัตรประชาชน เพื่อนำไปตรวจสอบว่ามีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ โดยจะนำรายชื่อดังกล่าวไปเบิกเงินมาจ่ายให้กับประชาชนที่ถูกจดชื่อ ส่วนคนที่จดนั้นก็จะได้ค่าหัวเป็นรายบุคคล ซึ่งมีการทำอย่างนี้เกือบเต็มพื้นที่