เลือกตั้ง'54: 16 องค์กรปชต.ห่วงเลือกตั้ง วอนปชช.ตัดสินใจด้วยเหตุผลไม่ใช้อารมณ์

ข่าวการเมือง Monday June 13, 2011 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

องค์กรประชาธิปไตย 16 องค์กร แสดงความรู้สึกห่วงใยต่อสถานการณ์การเมือง การเลือกตั้ง และเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง โดยเห็นว่าการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค.54 อาจจะไม่สามารถนำไปสู่ทางออกของประเทศตามที่หลายฝ่ายปรารถนา หากประชาชนไทยไม่ได้ใช้หลักเหตุผล ขาดสติยั้งคิด และใช้อารมณ์ความรู้สึกในการตัดสินใจลงคะแนนเสียง ท่ามกลางบรรยากาศทางเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน

ทั้ง 16 องค์กรประชาธิปไตย จึงขอแสดงจุดยืนที่สำคัญ ดังต่อไปนี้ 1.บรรยากาศการเลือกตั้ง ควรแสดงออกถึงความปรองดองอย่างแท้จริง ทุกฝ่ายไม่ควรแสดงพฤติกรรมในการข่มขู่คุกคามผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม และความปรองดองควรแสดงออกทั้งวาจา และพฤติกรรม

2.การนำเสนอข่าวของสื่อ ควรนำเสนอในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เป็นกลางและตรงกับข้อเท็จจริง เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสิน แต่ขณะนี้สื่อยังแสดงบทบาทนำเสนอแค่ข่าวที่มีสีสันเท่านั้น

3.พรรคการเมือง หรือ ผู้นำพรรคการเมือง ต้องมีความกล้าหาญในการนำเสนอวิสัยทัศน์และนโยบายต่อสาธารณชน มากกว่าการมุ่งได้พื้นที่จากสื่อรายวัน โดยปราศจากเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ

4.พฤติกรรมการซื้อเสียงและยอมรับการซื้อเสียง ยังเป็นประเด็นวิกฤติที่สำคัญ และคาดว่าน่าจะมีการซื้อเสียงอย่างมากมายในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยขอเรียกร้องให้ประชาชนร่วมต่อต้านการซื้อเสียงและการทุจริตการเลือกตั้ง พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด

5.ขอเรียกร้องให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตัดสินใจในการเลือกบุคคลหรือพรรคการเมืองที่จะมาบริหารประเทศบนพื้นฐานของข้อมูลข้อเท็จจริง ความเป็นไปได้ของนโยบาย เลือกผู้สมัครหรือ พรรคการเมืองที่ไม่มีจุดบกพร่องทางจริยธรรม มีมลทิน หรือมีประวัติการทำงานที่ในทางเสียหายในอดีต

6.ขอเรียกร้องให้ประชาชนไปใช้สิทธิให้มากที่สุด ตัดสินใจด้วยเหตุผล ใช้ปัญญาไม่ใช้อารมณ์ โดยขอให้ไตร่ตรองให้ดีว่าจะกากบาทเลือกใคร หรือ กากบาทไม่เลือกใคร จึงจะเกิดผลดีที่สุดต่อประเทศ

7.หลังการเลือกตั้ง ขอให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลตามกติกาที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ และขอให้ผู้ที่จะมาบริหารในอนาคต ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม เคารพกติกา กฏหมาย และคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชน ที่สำคัญไม่สามารถกล่าวอ้างผลการเลือกตั้งมาล้างโทษอาญาของแผ่นดินได้

อนึ่ง องค์กรประชาธิปไตย 16 องค์กร ประกอบด้วย มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย, เครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง, มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, เครือข่ายปัญญาสยาม, เครือข่ายธรรมาภิบาล, ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย, สภาทนายความ, เครือข่ายปวงชนต้านอธรรม, กลุ่มสยามสามัคคี, สมาพันธ์พลเมืองฐานราก, เครือข่ายรณรงค์สื่อต้านคอรัปชั่น, สถาบันพัฒนาการเมืองภาคประชาชน, เครือข่ายสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย, เครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน 7 ภูมิภาค, สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) และ กลุ่มเฟซบุ๊ค “เลือกใคร แล้วไทยรอด"

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ย้ำจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับแนวทางการนิรโทษกรรมด้วยการขอประชามติของประชาชน โดยชี้ว่าหากพรรคการเมืองที่จะชูนโยบายนิรโทษกรรม ทางองค์กรกลางขอเรียกร้องให้นำไปเป็นนโยบายหลักในการหาเสียง โดยไม่ต้องกล่าวอ้างถึงนโยบายอื่น เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ และหากประชาชนกินกว่าครึ่งเห็นด้วยกับแนวทางนี้ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่รับได้

"การตัดสินใจของประชาชนไม่ได้อยู่บนพื้นฐานนิรโทษกรรมเพียงประเด็นเดียว ไม่สามารถกล่าวอ้างถึงผลการเลือกตั้ง แม้จะชนะการเลือกตั้งได้ ถ้าท่านจะกล่าวอ้างผมขอให้โปสเตอร์ทุกแผ่นที่พูดถึงเรื่องอื่นออกไปให้หมด แล้วชูประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมเพียงประเด็นเดียว และถ้าหากประชาชนเลือกเสียงเกินครึ่งสภาก็มีความชอบธรรมเพียงพอที่จะกล่าวอ้างได้"นายสมชัย กล่าว

การทำประชามติควรจะต้องมีกระบวนการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนอย่างเพียงพอ รวมถึงควรจะมีคณะกรรมการที่เป็นกลางที่เข้ามาให้ข้อมูลถึงข้อดีข้อเสียของการทำประชามติผ่านเวทีสาธารณะด้วย

ส่วนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล นายสมชัย มองว่าพรรคอันดับหนึ่งตามมารยาททางการเมืองก็มีสิทธิควรได้รับการจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่หากพรรคอันดับหนึ่งไม่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้ พรรคอันดับ 2 ก็มีสิทธิที่จะรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ หรือแม้กระทั่งพรรคที่ได้คะแนนรองลงมา หากมีการโหวตในสภา บุคคลจากพรรคการเมืองใดก็ได้สามารถที่ได้รับการเสนอชื่อ ก็มีสิทธิที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลได้

นายยุวรัตน์ กมลเวชช์ อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีมิตรแท้ หรือศัตรูถาวร ไม่มีพรรคใดชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด และยังจำเป็นต้องอาศัยพรรคร่วมในการจับมือจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งคนที่โกรธกันอาจจะหายโกรธแล้วมาจับมือกันก็ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ