นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป กล่าวในการวิเคราะห์ผลของนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองต่ออนาคตประเทศไทยว่า นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์มีความโดดเด่นด้านนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิต ขณะที่พรรคเพื่อไทยมีความโดดเด่นด้านนโยบายการลงทุนด้วยโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก
"ทั้งสองพรรคการเมืองล้วนนำเสนอนโยบายการลงทุนโครงการขนส่งระบบราง แต่ยังไม่มีรายละเอียดมากนักถึงวิธีการระดมทุนเพื่อนำมาใช้ในการลงทุน"
ทั้งนี้ นโยบายส่วนใหญ่ยังมุ่งหาเสียงเพื่อความพึงพอใจต่อผู้มีสิทธิออกเสียงเฉพาะหน้ามากกว่าการพิจารณานโยบายอย่างพินิจพิเคราะห์อย่างรอบด้านและแสดงให้เห็นถึงความไม่ตระหนักต่อผลของนโยบายในระยะปานกลางและระยะยาว
โดยได้ยกตัวอย่างนโยบายการตรึงราคาพลังงาน การตรึงราคาสินค้าหลายประเภทโดยไม่สอดคล้องกับกลไกตลาด เป็นต้น เป็นนโยบายที่ไปแทรกแซงกลไกตลาดมากเกินไปทำให้เกิดการบิดเบือนการใช้ทรัพยากร ใช้งบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพและอาจนำมาสู่ภาวะการขาดแคลนสินค้าขึ้นได้
หากนโยบายของพรรคการเมืองจะใช้การแทรกแซงของรัฐต่อกลไกราคาจะต้องอยู่ภายในกรอบเพื่อส่งเสริมการทำงานของกลไกตลาด หรือเพื่อแก้ไขภาวะตลาดล้มเหลวเท่านั้น เพื่อช่วยให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมมีประสิทธิภาพสูงสุดรองลงมาจากการใช้กลไกตลาด
"การแทรกแซงของรัฐที่เกินกรอบนี้ จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียประโยชน์และไม่มีประสิทธิภาพ เพราะจะเท่ากับว่ารัฐเข้าไปแก่งแย่งการใช้ทรัพยากรของภาคเอกชน" นายอนุสรณ์ ระบุ
นอกจากนี้ นโยบายที่มีลักษณะประชานิยมของพรรคการเมืองต่างๆ หากดำเนินการอย่างไม่ระมัดระวังจะนำมาสู่อัตราเงินเฟ้อในระดับสูง ปัญหาวิกฤตการณ์ฐานะทางการคลังและหนี้สาธารณะในระดับสูง นโยบายลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ทั้งหลาย เช่น Harber City (ปชป) ถนทะเลสร้างเมืองใหม่ (พท) โครงการรถไฟฟ้าและโครงการรถไฟความเร็วสูง หากไม่บริหารจัดการให้ดี ประเทศจะประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้
นอกจากนี้ พรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่ได้นำเสนอการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านความรายได้และทรัพย์สินแต่มุ่งการเพิ่มสวัสดิการเพื่อบรรเทาปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจเท่านั้น ทั้ที่ปัญหาการกระจายรายได้และกระจายความมั่งคั่งเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทยและนำมาสู่ปัญหาอื่นๆและความขัดแย้งทางการเมือง ในปี พ.ศ. 2530 ประชากรที่จนที่สุด 20% ของประเทศมีรายได้รวมกันเพียง 4.6% ของประเทศ ในปี พ.ศ. 2552 ประชากรกลุ่มดังกล่าวมีรายได้ 4.8% ใกล้เคียงกับ 22 ปีก่อนหน้าเท่านั้น สะท้อนปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้คนจนและคนรวยยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก
นโยบาย เศรษฐกิจเพื่อหาเสียงของหลายพรรคการเมืองในขณะนี้ ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การลดภาษีประเภทต่างๆ เพื่อเอาใจฐานคะแนนเสียง พรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนวทางการปฏิรูปภาษีทั้งระบบซึ่งไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่าจะลดหรือเพิ่มภาษีประเภทใดในอัตราเท่าไหร่ ขณะที่ พรรคเพื่อไทย เสนอลดภาษีนิติบุคคจาก 30% เป็น 23% ในปี 2555 และลดเหลือ 20% ในปี 2556 พรรคชาติไทยพัฒนา เสนอลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% และพรรคภูมิใจไทย เสนอลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เหลือ 5%
พรรคการเมืองที่เสนอลดภาษีอย่างชัดเจนต้องตอบคำถามให้ได้ว่าจะหารายได้มาชดเชยรายได้ภาษีเหล่านี้อย่างไร เพราะตอนนี้รัฐบาลได้ทำงบประมาณขาดดุลมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว หากไม่สามารถหาเงินมาชดเชยก็จำเป็นต้องตัดลดรายจ่ายบางส่วนลง หากใช้ฐานข้อมูลเดิมมาพิจารณา การปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 20-23% จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากภาษีนิติบุคคลมากกว่าหนึ่งแสนล้านบาท พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน มีนโยบายยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับนักศึกษาที่เริ่มทำงาน 5 ปีแรก เป็นนโยบายที่มีข้อจำกัดและยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าใครคือนักศึกษาและเป็นนักศึกษาระดับไหน
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การแข่งขันกันในเรื่องนโยบายเป็นสัญญาณที่ดีของพัฒนาการประชาธิปไตยไทย แต่นโยบายส่วนใหญ่ยังไม่มีการบอกถึงแหล่งที่มาของงบประมาณ พรรคการเมืองยังหลีกเลี่ยงไม่นำเสนอประเด็นเรื่องการปฏิรูประบบภาษีและการแสวงหารายได้เพื่อสนับสนุนโครงการประชานิยมต่างๆ มุ่งแข่งขันกันใช้จ่ายเงินและการเพิ่มสวัสดิการต่างๆเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่พอใจและกล่าวถึงนโยบายระยะยาวในการเตรียมประเทศเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ขณะที่นโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันติดสินบน แทบจะไม่มีพรรคการเมืองใหญ่พรรคใดเสนอขึ้นมาอย่างชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากพรรคการเมืองทางเลือกทั้งพรรครักษ์สันติ พรรคการเมืองใหม่ โดยเฉพาะพรรครักษ์สันติได้นำเสนอเรื่องความซื่อตรงในการทำงานเป็นประเด็นหลัก พรรคการเมืองไม่ได้นำเสนอเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ
นอกจากนี้ ในวงสัมมนาได้เปรียบเทียบนโยบายรับจำนำข้าว กับโครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยมีการชี้ข้อดีข้อเสีย ว่า นโยบายรับจำนำข้าวคือ ชาวนาหรือเกษตรกรจะได้รับเงินทันทีเต็มจำนวน ซึ่งนโยบายนี้ยังสอดรับการจัดตั้งธนาคารข้าวและนโยบายบัตรเครดิตชาวนา ขณะที่ข้อด้อยคือรัฐจะต้องลงไปเป็นคู่ค้าทำให้เกิดการขาดทุนและมีปัญหาด้านประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด และอาจทำให้ชาวนาไม่สนใจภาวะตลาด และหากรัฐบาลไม่สามารถจัดการบริหารโควต้าได้ดี จะทำให้เกิดการทุจริตขึ้นได้
ส่วนการประกันรายได้เกษตรกร จะทำให้ราคาข้าวยังเป็นไปตามกลไกตลาด รัฐไม่เข้าไปแทรกแซง ซึ่งจะทำหน้าที่เพียงจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาตลาดและราคาอ้างอิง แต่จะมีข้อเสียคือชาวนาอาจจะได้รับเงินส่วนต่างล่าช้าไม่คุ้มค่าการผลิต หรือต้นทุนผลิตที่แท้จริง เพราะราคาตลาดอาจจะผันผวนมาก อาจทำให้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก หากราคาตกต่ำ และรัฐต้องจ่ายส่วนต่างที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม นโยบายเศรษฐกิจที่ควรเร่งดำเนินการยังขาดความชัดเจนเรื่องแผนการดำเนินการ งบประมาณและแหล่งที่มาของเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนระบบราง โครงการระบบชลประทานและการจัดการน้ำ ปัญหาวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมในบางพื้นที่ เป็นต้น
นอกจากนี้ พรรคการเมืองยังขาดนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของไทยในระดับภูมิภาคและระดับโลก การขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนทำให้ประเทศขาดเป้าหมายในระยะยาว การวางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจให้เหมาะสมมีความจำเป็นต่อประเทศ ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นหลังที่จะไม่สูญเสียโอกาสที่รออยู่ข้างหน้า