นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เผยแพร่บันทึกบทใหม่"จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ 5"ผ่านเว็บไซท์เฟซบุ๊คเมื่อคืนวานนี้ โดยระบุว่านอกจากเรื่อง 91 ศพแล้ว วาทกรรมที่ฝ่ายตรงข้ามสร้างขึ้นเพื่อเป็นกระแสโจมตีก็คือ“ดีแต่พูด" ซึ่งเป็นกลยุทธที่นอกจากจะพยายามปิดกั้นไม่ให้ลงพื้นที่ในหลายพื้นที่แล้ว ก็ไม่ต้องการให้สื่อสารกับประชาชน และหาทางลดความเชื่อถือของการให้ความจริงและการใช้เหตุผลอธิบายถึงปัญหา แนวคิด นโยบาย และผลงานของรัฐบาล
กระบวนการนี้เริ่มจากคนเสื้อแดงไปชูป้ายที่งานวันแรงงาน เพื่อให้ ส.ส.เพื่อไทยเอาไปขยายผลในสภาและการสร้างกระแส ก็หวังว่าผู้เกี่ยวข้องและประชาชนจะมองทะลุกลยุทธ์นี้ และมองเห็นความเป็นจริง เพราะที่จริงรัฐบาลนี้“ทำจริง"ในเรื่องแรงงานมาตลอด 2 ปีกว่า ทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคม เปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบเข้ามาสู่ระบบประกันสังคม แก้กฎกระทรวงให้รับคนพิการเข้าทำงานมากขึ้น รวมทั้งเตรียมปฏิรูประบบประกันสังคม ปรับขึ้นค่าจ้างและจะขึ้นต่อไป รวมไปถึงการประกาศค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นครั้งแรก
นับตั้งแต่เข้ามาทำงาน รัฐบาลได้ให้เบี้ยยังชีพไปถึงผู้สูงอายุถ้วนหน้า เทียบกับรัฐบาลชุดก่อนหน้านีเบริหารประเทศมา 6 ปีไม่เอาจริงเรื่องเรียนฟรี แต่ภายใน 99 วัน รัฐบาลชุดนี้มีเงินส่งถึงมือผู้ปกครองเป็นค่าเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และตำราเรียน รัฐบาลชุดเดิมบริหารประเทศมา 6 ปี ไม่ให้ค่าตอบแทน อสม. แต่รัฐบาลนี้ดำเนินการใน 99 วัน ทั้ง ๆ ที่นโยบายเหล่านี้นักการเมืองแทบทุกพรรคพูดมาช้านาน
"แต่ถ้าดีแต่พูด แปลว่า พูดแล้วทำไม่ได้ โครงการ Elite Card (ที่ว่าจะหาเงิน 1 ล้านล้านบาท) ค้าปลีกเข้มแข็ง SPV วัวล้านตัว ฯลฯ ที่ล้มเหลว เข้าข่ายไหม เหมือนกับที่พูดว่าจะขึ้นค่าแรง 300 บาททันทีทั่วประเทศ ไม่สนใจว่าธุรกิจจะอยู่ได้ไหม หรือจะใช้เงินเป็นแสนล้านเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์แจกเด็กคนละเครื่องโดยไม่ขึ้นภาษี ไม่กู้เพิ่มหวังว่าประเทศนี้จะไม่ต้องพิสูจน์ว่า “ดีแต่พูด" แน่นอน
และถ้าหากว่า ดีแต่พูด แปลว่า พูดแล้วไม่ทำ ใครล่ะที่หลอกพี่น้องเสื้อแดงว่าให้มาชุมนุมเยอะ ๆ เสียงปืนดังขึ้นเมื่อไหร่จะมายืนแถวหน้า แต่กลับไปช้อปปิ้งอยู่ปารีส แต่ก็มีหลายคนที่ผมเสียดายว่าไม่ดีแต่พูด แต่ทำจริง พวกที่ประกาศล่วงหน้าให้มาเผาไงครับ"นายอภิสิทธิ์ ระบุ
นายอภิสิทธิ์ เปิดเผยว่า เขียนบันทึกนี้ระหว่างเดินทางกลับจากอินโดนีเซียที่ไทยได้รับความไว้วางใจจาก World Economic Forum ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม WEF ในเอเชียตะวันออกปีหน้าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ถือเป็นรูปธรรมในการฟื้นความเชื่อมั่นของประเทศ หลังจากสภาวะรัฐล้มเหลว อีกทั้งมีคนทำลายภาพลักษณ์ของประเทศด้วยการล้มประชุมอาเซียนและเผาบ้านเผาเมือง
ทั้งนี้ ระหว่างที่เดินทางมาร่วมประชุมครั้งนี้ ผู้นำทั้งภาคธุรกิจและการเมืองต่างยอมรับถึงความสำเร็จ ของการบริหารเศรษฐกิจไทยในเวลา 2 ปี