ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพล) เผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อนโยบายหาเสียงเชิงเปรียบเทียบของสองพรรคใหญ่จำนวน 9 นโยบาย โดยส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายของพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ยังเหนือกว่าพรรคเพื่อไทย(พท.)
"นักเศรษฐศาสตร์ให้นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เหนือกว่าพรรคเพื่อไทยจำนวน 7 นโยบาย ส่วนนโยบายที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่าพรรคเพื่อไทยเหนือกว่ามี 1 นโยบาย" เอกสารเผยแพร่ของกรุงเทพโพล ระบุ
แต่มีนโยบายเดียวของ พท.ที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเหนือกว่า ปชป. คือ นโยบายปราบยาเสพติดให้หมดไปภายใน 12 เดือน ขณะที่นโยบายขยายบรอดแบนด์แห่งชาติ 3G อินเทอร์เน็ตชุมชนสู่ทุกตำบลทั่วประเทศภายใน 4 ปี ของ ปชป.กับนโยบาย Free WIFI เล่น Internet ในที่สาธารณะของ พท.นั้น นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าเป็นนโยบายที่ดีพอๆ กัน
เมื่อมองในแง่นโยบายที่สามารถนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้ นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่ามี 7 ใน 9 นโยบาย ของ ปชป.ที่สามารถทำได้จริง ส่วนอีก 2 นโยบาย ได้แก่ นโยบายจัดการปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดด้วยการจัดตั้งกองกำลังพิเศษ 2,500 นาย และนโยบายขยายบรอดแบนด์แห่งชาติ 3G อินเทอร์เน็ตชุมชนสู่ทุกตำบลทั่วประเทศภายใน 4 ปี เป็นนโยบายที่เชื่อว่าไม่สามารถทำได้จริง
ขณะเดียวกันเชื่อว่ามี 5 ใน 9 นโยบายของ พท.ที่สามารถทำได้จริง ส่วนที่อีก 4 นโยบาย ได้แก่ นโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท, นโยบายปราบยาเสพติดให้หมดไปภายใน 12 เดือน, นโยบายทำรถไฟความเร็วสูงไปเชียงใหม่ โคราช ระยอง และขยายแอร์พอร์ตลิงส์ ไปฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพัทยา และนโยบายขยายรถไฟฟ้าให้ครบทั้ง 10 สายโดยเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยบายที่เชื่อว่าไม่สามารถทำได้จริง
ส่วนนโยบายที่น่าสนใจอื่นๆ ของทั้งสองพรรค ซึ่งเลือกมาพรรคละ 3 นโยบาย นักเศรษฐศาสตร์มองว่านโยบายของ ปชป.เป็นนโยบายที่ดีทั้ง 3 นโยบาย ขณะที่นโยบายของ พท.เป็นนโยบายที่ดี 2 นโยบาย และเป็นนโยบายที่แย่ 1 นโยบาย คือ เครดิตการ์ดพลังงาน เพื่อเติมน้ำมันหรือก๊าซ NGV สำหรับคนขับแท็กซี่ สามล้อ รถตู้ และมอเตอร์ไซต์รับจ้าง
นักเศรษฐศาสตร์มองว่านโยบายที่ดีที่สุดและสามารถทำได้จริงมี 2 นโยบายที่มีเปอร์เซ็นต์เท่ากัน คือ นโยบายเชื่อม กทม.-ปริมณฑล(นนทบุรี-ปทุมธานี-สมุทรปราการ) ด้วยรถไฟฟ้าระยะทาง 166 กม. ภายใน 5 ปี และนโยบายจัดให้มีบำนาญประชาชนหลังอายุ 60 ปี โดยรัฐร่วมสมทบในกองทุนการออมแห่งชาติของ ปชป.
ส่วนนโยบายที่ว่าเป็นนโยบายที่แย่มากที่สุดและไม่สามารถทำได้จริง คือ โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร หรือเครดิตการ์ดชาวนา ควบคู่กับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าเกวียนละ 15,000 บาท/ข้าวหอมมะลิเกวียนละ 20,000 บาทของ พท.
ทั้งนี้ กรุงเทพโพลได้สำรวจความคิดเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ 26 แห่ง จำนวน 73 คน ระหว่างวันที่ 13-20 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่ได้พิจารณาเรื่องแหล่งที่มาของงบประมาณที่จะใช้ในโครงการต่างๆ ว่าจะมาจากที่ใด และจะเป็นภาระด้านการคลังหรือไม่