"ข้าพเจ้า บัน คี-มุน ขอปฏิญานว่าจะปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างซื่อสัตย์ สุขุมรอบคอบ มีคุณธรรม ในฐานะเลขาธิการสหประชาชาติ"
ข้อความในเครื่องหมายคำพูดข้างต้นได้พาเราย้อนกลับไปใน "อดีต" เมื่อครั้งที่บุรุษนักการทูตผู้มีนามว่า "บัน คี-มุน" ลั่นวาจาไว้ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นครั้งแรก ณ สำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์ก ก่อนที่เขาจะเริ่มทำหน้าที่นี้อย่างเป็นทางการเมื่อก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ในปี 2550
ปัจจุบัน นายบัน คี-มุน คือเลขาธิการแห่งองค์การสหประชาชาติที่ยังคงวุ่นวายอยู่กับการเดินสายประชุมในประเทศต่างๆ เพื่อแก้ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ และ "อนาคต" ชายผู้นี้จะยังคงทำหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ต่อไปอีก 5 ปี (ปี 2555-2559) หลังจากที่เมื่อวานนี้ (21 มิถุนายน 2554) สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติซึ่งมีภาคีสมาชิก 192 ประเทศได้ลงมติเป็นเอกฉันท์เลือกนายบัน คี-มุน นั่งเก้าอี้เลขาธิการต่อไปเป็นสมัยที่ 2
เป็นเวลานับเนื่องเกือบครึ่งทศวรรษแล้วที่บัน คี-มุน ปฏิบัติหน้าที่ที่ถือว่ายากที่สุดหน้าที่หนึ่ง หากแต่ภาระอันหนักหน่วงเหล่านี้มิได้เป็นอุปสรรคที่ทำให้เขารู้สึกท้อใจ แต่กลับเป็นเสมือนเชื้อไฟที่ไม่เคยมอดไหม้ แม้เขาจะล่วงเลยถึงวัย 67 ปีแล้วก็ตาม
"ผมจะเป็นนักการทูต"
จะมีสักกี่คนที่สามารถทำได้ในสิ่งที่ตนเคยพูดไว้ในวัยเด็ก? แต่บัน คี-มุน คือหนึ่งในตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเดินตามความฝันของการเป็นนักการทูตด้วยมียูเอ็นเป็นแรงบันดาลใจ ดังที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า "สหประชาชาติ คือ ผู้ช่วยชีวิตของผม ที่นี่คือองค์กรที่ช่วยกอบกู้ให้เกาหลีใต้ฟื้นคืนจากความขัดแย้งของสงคราม"
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2487 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกาหลีถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นนั้น เด็กชายบัน คี-มุน ถือกำเนิดขึ้นในหมู่บ้านเกษตรกร ณ เมืองอิมซอง ที่ซึ่งกำลังปกคลุมไปด้วยไฟแห่งสงคราม ทว่าด้วยความช่วยเหลือจากกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นที่นำความสงบกลับคืนสู่คาบสมุทรเกาหลี เด็กชายบันผู้นี้จึงมีแรงบันดาลใจและใฝ่ฝันจะเป็นนักการทูตนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ความฝันอันมั่นคงและเด็ดเดี่ยวในครั้งนั้นทำให้เด็กชายบัน คี-มุน เป็นนักเรียนที่ขยันขันแข็งและมีผลการเรียนในระดับสูงสุดเสมอ เล่ากันว่า ทุกวันเด็กชายบันจะเดินจากบ้านไปยังโรงงานผลิตปุ๋ยที่อยู่ห่างออกไปเกือบ 10 กิโลเมตร เพียงเพื่อจะได้ฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติที่ทำงานในโรงงานแห่งนั้นแค่วันละไม่กี่ชั่วโมง
เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต บัน คี-มุน ในวัย 18 ปี คว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขันกล่าวคำปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษของโครงการ VISTA และได้รับทุนจากสภากาชาดอเมริกันให้เดินทางไปเยือนสหรัฐ ในครั้งนั้นเขาได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวชาวอเมริกันว่า "ในอดีตผมมีความประทับใจต่อยูเอ็น และฝันว่าในอนาคตผมจะเป็นนักการทูตให้ได้"
"ขอมุ่งหน้าสู่ยูเอ็น ด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่"
นักการทูตหลายคนกล่าวตรงกันว่าบัน คี-มุน เป็นบุคคลผู้มีเจตนารมย์มั่นคงหนักแน่น ขยันขันแข็ง มีอัธยาศัยดี และเขายังคงเป็นเช่นนี้ตลอดมานับตั้งแต่ครั้งเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ หลังสำเร็จการศึกษาในปริญญาตรีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล (Seoul National University) ด้วยคะแนนสูงสุดในรุ่นเมื่อปี 2513 ก่อนที่จะคว้าปริญญาโทสาขารัฐประศาสนศาสตร์จากสถาบันการปกครองจอห์น เอฟ เคเนดี้ (John F. Kennedy School of Government) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มาประดับบารมีในปี 2528
ก่อนจะไต่เต้าเข้าสู่ยูเอ็น บัน คี-มุน สั่งสมเครดิตด้วยการทำงานกับรัฐบาลเกาหลีใต้นานถึง 36 ปี จนกระทั่งได้ประจำการเป็นเลขานุการเอกประจำสำนักงานผู้สังเกตการณ์ถาวรของเกาหลีใต้ประจำยูเอ็นที่สำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์กระหว่างปี 2517 — 2521 และในระหว่างที่เกาหลีใต้ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาใหญ่ของยูเอ็นสมัยที่ 56 เมื่อปี 2544 นั้น บัน คี-มุน ได้เป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ของประธานสมัชชาใหญ่ยูเอ็น จนกระทั่งได้นั่งเก้าอี้เลขาธิการยูเอ็นสมดังเจตนารมย์ในปี 2550 หลังผ่านการหยั่งเสียงทั้งสิ้นถึง 4 ครั้ง และเขาก็เป็นที่หนึ่งในทุกครั้ง
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ความมุ่งมั่นในการทำงานของเขายังคงเริ่มต้นตั้งแต่เช้าตรู่ โดยเขาจะพาตัวเองมาถึงสำนักงานในเวลาประมาณ 07.30 น.ของทุกวัน และมักหอบเอกสารกองใหญ่กลับบ้านหลังจากพระอาทิตย์ตกดิน
"ความสำเร็จของยูเอ็นไม่ได้อยู่ที่คำมั่นบนโต๊ะเจรจา แต่อยู่ที่ว่าเราจะช่วยผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้มากแค่ไหน"
วิกฤตโลกร้อน การต่อต้านภัยก่อการร้าย ปัญหาภัยธรรมชาติ ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง วิกฤตการณ์นิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ปัญหาสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง ฯลฯ เป็นเพียงตัวอย่างของภารกิจสำคัญระดับช้าง ที่ชายรูปร่างผอมบางกำลังแบกอยู่บนบ่า
อาจกล่าวได้ว่า บัน คี-มุน คือผู้นำในการพลิกวิกฤต "โลกร้อน" ให้กลายเป็นกระแส "รักษ์โลก" จากนโยบายแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่เขาหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วนของมวลมนุษยชาติ ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนท่านเลขาฯ กลายเป็นจำเลยในข้อหาทำให้ "ถุงผ้า" เป็นสินค้าขายดี
นโยบายการแก้ปัญหาโลกร้อนของบัน คี-มุน เป็นที่กล่าวขวัญและเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ แม้ว่าการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องพบกับความผิดหวัง "ซ้ำซาก" ทั้งจากเวทีประชุมในเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และเมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก จนเป็นที่มาของถ้อยคำล้อเลียนผลการประชุมดังกล่าวว่า "Nopenhagen and Cannot"
อีกหนึ่งผลงานอันโด่งดังของยูเอ็นในยุคบัน คี-มุน คือ การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ซึ่งครอบคลุมถึงการลดความยากจน การต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ การรับมือกับความหิวโหย การปกป้องสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนด้านการศึกษา โดยประเทศสมาชิกต่างให้คำมั่นสัญญาว่าจะมุ่งมั่นผลักดันให้เป้าหมาย MDGs บรรลุผลสำเร็จให้ได้ภายในปี 2558
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ด้านความขัดแย้งในลิเบีย ซีเรีย และประเทศอาหรับเป็นประเด็นที่บันเอ่ยปากว่าต้องแก้ปัญหาเป็นอันดับแรก ซึ่งปัจจุบันยูเอ็นได้ให้การสนับสนุนกำลังผสมนานาชาติในลิเบีย ตลอดจนสนับสนุนการลุกฮือในตะวันออกกลาง
"พูดให้น้อย ทำให้มาก"
วาทะข้างต้นคือหนึ่งในคติประจำใจที่บัน คี-มุน ใช้เป็นหลักปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการปฏิรูปยูเอ็นที่เขาชูเป็นจุดขาย พร้อมกับบรรยายสรรพคุณของตัวเองว่า "มองจากภายนอกผมอาจดูนุ่มนวล แต่ว่าข้างในนั้นแข็งแกร่งดังหินผา เมื่อถึงเวลาคับขัน"
ชาร์ลส์ แกนลอน ผู้สื่อข่าวจากบีบีซีประจำกรุงโซลพูดถึงบุคลิกของนายบันว่า เขาเป็นคนประนีประนอม ไม่โฉ่งฉ่าง ไม่นิยมการปะทะแบบบู๊ล้างผลาญ และมักเก็บงำปัญหาไปปรึกษากันเงียบๆ มากกว่า ทว่าสิ่งเหล่านี้กลายเป็นจุดบอดที่ทำให้บัน คี-มุน ถูกโจมตีว่า "หงอจนเกินงาม" ในขณะที่ความรู้ด้านภาษาอังกฤษของเขา ไม่ได้ช่วยให้ภาพลักษณ์เฉื่อยชาไร้บารมีดูดีขึ้นมาแม้แต่นิดเดียว
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ตีพิมพ์บทความของอินกา-บริตต์ อาห์เลนิอุส อดีตหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับตรวจสอบภายในแห่งสหประชาชาติที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของบัน คี-มุน อย่างสาดเสียเทเสียว่า ความไร้ซึ่งภาวะผู้นำของบัน คี-มุน จะทำให้ยูเอ็นล่มสลายและเป็นองค์กรที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป และเมื่อปีที่แล้วหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของนอร์เวย์ได้เผยแพร่ข้อความในบันทึกส่วนตัวของโมนา จูล อดีตผู้ช่วยเอกอัครราชทูตของนอร์เวย์ประจำยูเอ็นที่มีเนื้อหาว่า นายบันมีอำนาจวาสนาแต่ขาดบารมี ไร้เสน่ห์ดึงดูด และเป็นผู้ที่ยอมจำนนต่อเสียงเกรี้ยวกราด ซึ่งนั่นทำให้เขาเป็นมนุษย์ที่ไร้ประโยชน์
นอกจากนี้ ยังมีรายงานประจำปีของกลุ่มสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอตช์ที่สบประมาทยูเอ็นว่า ไม่เด็ดขาดมากพอที่จะแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน โดยเฉพาะการใช้ "นโยบายการทูตเงียบ" กรณีที่บัน คี-มุน ไม่ยอมแตะประเด็นหลิว เสี่ยวโป นักโทษการเมืองที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพขึ้นมาหารือกับประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ในระหว่างการเดินทางเยือนจีนเมื่อปีก่อน
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทางการทูตของยูเอ็นได้ออกมาแก้ต่างเรื่องคุณสมบัติของนายบันว่า การใช้วิธีการทูตเงียบ คือหนึ่งในกลยุทธ์การแก้ปัญหาโดยอาศัยแรงกดดันจากกระแสสังคม และตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งเลขาธิการที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาที่สร้างความคลางแคลงใจ แม้ว่าเขาจะไม่ใช่ผู้ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของทุกคน แต่ก็ไม่มีเหตุผลใด ที่จะไม่สนับสนุนให้เขาทำหน้าที่นี้ต่อไปในอนาคต
แม้การประกาศแต่งตั้งบัน คี-มุน ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการยูเอ็นครั้งล่าสุดนี้จะไม่ใช่เรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมาย แต่บนเส้นทางอันยาวไกล บัน คี-มุน จะต้องพบเจอกับปัญหาอีกมากมายที่คาดไม่ถึง ในขณะที่ยูเอ็นยังมีภารกิจสำคัญ นั่นคือ การนำทุกชาติทั่วโลกมา "ทำงานร่วมกัน" เพื่อสร้างสันติภาพและการพัฒนาบนพื้นฐานของความยุติธรรมและความกินดีอยู่ดี โดยมีปณิธานอันแรงกล้าจากวาทะของบัน คี-มุน ที่ปรากฏอยู่ ณ บรรทัดสุดท้ายในแถลงการณ์ฉบับเมื่อวานนี้ว่า....
"ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่มีปัญหาใดที่ใหญ่เกินแก้ และด้วยความร่วมมืออันดีนี้ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้"