INSIGHT: การเมืองหลังเลือกตั้ง'54 ความวุ่นวายไม่จบ-ม็อบยังอยู่คู่เมือง

ข่าวการเมือง Thursday June 23, 2011 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ในฐานะประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล มองว่า หลังจากมีรัฐบาลใหม่แล้ว ไม่ว่าพรรคใดจะได้ขึ้นเป็นรัฐบาลก็ตาม การชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องต่างๆ ยังคงมีอยู่ รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดงที่เชื่อว่ายังคงมีอยู่เช่นกันแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลก็ตาม ดังนั้นการเมืองทั้งในและนอกสภาฯ ก็จะยังเป็นสิ่งที่ได้เห็นกันไปอีกนาน

"ต้องดูหลังตั้งรัฐบาล ให้เห็นรายชื่อรัฐมนตรีก่อน อย่าลืมว่าตอนนี้ ความหวังของประชาชน คือการหย่อนบัตรเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค. ดังนั้นถ้าใครก็ตามจะมาทำให้ตรงนี้ไม่เกิดขึ้น(การเลือกตั้ง) คงตายแน่" นายสุขุม กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

สำหรับภายใต้บรรยากาศทางการเมืองปัจจุบัน นายสุขุม มองว่า พรรคเพื่อไทยมีความได้เปรียบ เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนได้ให้โอกาสพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศได้

ประกอบกับสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอเป็นนโยบายการทำงานช่วงที่ผ่านมานั้น หลายสิ่งยังทำให้ประชาชนไม่ได้ตามที่หวัง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง, การศึกษาขั้นพื้นฐานภาคบังคับที่ไม่ได้เรียนฟรีจริง ตลอดจนการสร้างความปรองดองในประเทศ

และประเด็นสำคัญคือ คนไทยชอบลองของใหม่ นั่นหมายถึงการให้โอกาสได้มีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย

"ทุกวงการมองว่าประชาธิปัตย์เป็นรอง ทั้งในแง่ของจำนวน ส.ส.ที่จะได้รับ, เพื่อนฝูงที่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล, สถานการณ์ที่ประชาชนจับจ้อง เช่น มือที่มองไม่เห็น อำนาจแฝงในการจัดตั้งรัฐบาล อย่าลืมว่านายกฯ ผู้ชายเราลองมาหมดแล้ว ประชาชนอาจอยากให้ผู้หญิงมาเป็นบ้าง ตรงนี้อาจจะได้เปรียบ และถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ออกมาตอบโต้อะไร จะได้ใจประชาชน เพราะชั่วโมงนี้ที่เราทำโพลล์มา ใครพูดมาก ด่ามาก กระทบกระเทียบมาก ประชาชนจะไม่ค่อยพอใจ" นายสุขุม กล่าว

"ยิ่งลักษณ์" ยิ่งเงียบ ยิ่งได้ใจชาวบ้าน

ส่วนปัญหาเขย่าเก้าอี้ตั้งแต่เพิ่งเริ่มเป็นเพียงว่าที่นายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในกรณีความเกี่ยวโยงกับคดีซุกหุ้นชินคอร์ปฯ ของพี่ชายในสายเลือด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แสดงความพร้อมที่จะให้ทุกฝ่ายตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งการไม่ออกมาตอบโต้กับกระแสคัดค้านต่อต้านจากทั้งฝ่ายของเครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอรัปชั่นทักษิณ(คนท.) และกลุ่มคนเสื้อหลากสี ยิ่งทำให้การตอบโต้หรือการต่อความยาวสาวความยืดของผู้ที่ต้องการจะทำให้เป็นประเด็นยิ่งยากลำบากขึ้นจากกลยุทธ์ "ความเงียบสงบสยบความเคลื่อนไหว"

นอกจากนี้ ในสังคมไทยเองยังมีความเชื่อฝังหัวอยู่ว่าการตอบโต้หรือรังแกผู้หญิงอาจไม่ใช่สิ่งที่ควรประพฤติปฏิบัติ เพราะท้ายสุดแล้วผู้ที่เริ่มเป็นฝ่ายเปิดฉากอาจพลาดท่าเพลี่ยงพล้ำเสียทีเองก็เป็นได้

"ในสังคมไทยใครถ้ารังแกผู้หญิง ผลกระทบจะเด้งกลับมาแรงมาก ใครต่อความยาวสาวความยืดจะลำบาก แต่คุณยิ่งลักษณ์ ใช้วิธีเงียบและพร้อมให้ตรวจสอบ จึงทำให้กระแสตอบโต้หยุดลง จึงมองว่าได้เปรียบ" นายสุขุม ระบุ

ทั้งนี้ หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งจะมีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ก็ย่อมขึ้นกับว่าจะได้จำนวนที่นั่งของ ส.ส.ในสภาฯ เกินกึ่งหนึ่งหรือไม่ ซึ่งหากได้เกินกว่ากึ่งหนึ่งก็ย่อมเป็นไปตามครรลองของกฎหมายที่ต้องให้เกียรติพรรคที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน

*อำนาจมืด-มือที่มองไม่เห็นยากแทรกแซง,การเมืองเข้มข้นหลังบ้านเลขที่ 111 และ 109 คืนชีพ

ขณะเดียวกัน นายสุขุม มองว่าภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองที่ค่อนข้างสงบเรียบร้อย คงไม่สามารถเปิดช่องให้อำนาจต่างๆ ที่มองไม่เห็นเข้ามาแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยได้หากพรรคมีคะแนนเสียงข้างมากในสภาฯ นอกเสียจากว่าพรรคเพื่อไทยจะไปสะดุดขาตัวเอง

ส่วนพรรคการเมืองขนาดเล็กที่หวังจะเข้ามาสอดแทรกที่นั่ง ส.ส.ในสภาฯ และทำท่าว่ามีโอกาสจะเป็นไปได้สูง นั่นคือ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย และ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานพรรครักษ์สันติ แต่เชื่อว่าแม้จะได้เข้าไปนั่งในสภาฯ ก็คงไม่มีบทบาทมากนัก เพราะกระแสของพระเอกขี่ม้าขาวในสังคมไทยเริ่มลดน้อยลงไปแล้ว

นายสุขุม ให้ความเห็นในมุมมองส่วนตัวว่า การเมืองในช่วงนี้เป็นเพียงการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลที่ยังไม่ถือว่าเข้มข้นหรือน่าสนใจในแวดวงของคอการเมืองเท่าใดนัก เพราะคอการเมืองที่แท้จริงต่างมองข้ามช็อตไปถึง 1-2 ปีข้างหน้าที่นักการเมืองตัวจริงเสียงจริงจากทั้งบ้านเลขที่ 111 และบ้านเลขที่ 109 หวนคืนกลับมาสู่วงการการเมืองไทยได้อีกครั้ง และมองว่าในปัจจุบันยากที่จะหาดาวรุ่งทางการเมืองที่มีความโดดเด่นหรือมีชั้นเชิงเท่ากับนักการเมืองเหล่านั้นได้

"ผมคาดการณ์ผิดว่าในช่วงที่ 111 และ 109 พักรบ มันน่าจะเกิดวีรบุรุษขึ้นมาใหม่ๆ แต่ปรากฎว่าไม่มีเลย จริงๆ มันควรเป็นโอกาสที่แต่ละพรรคจะสร้างนักการเมืองที่เข้มแข็ง โดดเด่นขึ้นมา แต่มันก็ยังไม่ใช่ขั้นนั้น...ถ้าคอการเมืองจริงๆ คงมองข้ามช็อทไปถึง 111 และ 109 คืนชีพว่าบทบาทการเมืองจะเป็นอย่างไร" นายสุขุม กล่าวในท้ายสุด

*เชื่อเพื่อไทยมาแน่ แต่ประชาธิปัตย์ก็ยังไม่หมดโอกาส

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและติดตามนโยบายภาครัฐ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มองผลเลือกตั้ง 3 ก.ค.54 แม้พรรคเพื่อไทย(พท.) จะชนะการเลือกตั้ง แต่คงได้ ส.ส.ไม่ถึง 250 เสียง ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยจับมือกับพรรคภูมิใจไทย(ภท.)

"หลายฝ่ายคงประเมินตรงกันว่าทางพรรคเพื่อไทยน่าจะเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่จำนวน ส.ส.คงไม่ถึงครึ่ง(250 ที่นั่ง) ที่พรรคเพื่อไทยประเมินว่าจะได้ถึง 270(ที่นั่ง)คงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากกฎกติกาเอื้อต่อพรรคการเมืองขนาดเล็ก ทำให้เกิดพรรคการเมืองท้องถิ่นมากมาย" นายสมชัย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ กล่าวว่า ผลจากการแก้ไขกฎหมายเรื่องการคำนวณสัดส่วนคะแนนเสียงที่จะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่ได้กำหนดไว้ที่ 5% ตามเดิมทำให้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มีโอกาสถูกจัดสรรปันส่วนไปให้พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก นอกจากนี้ในส่วนของ ส.ส.แบบแบ่งเขต ก็จะเห็นพรรคการเมืองท้องถิ่น ได้แก่ พรรคพลังชลที่เน้นพื้นที่ภาคตะวันออก พรรคมาตุภูมิที่เน้นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินที่เน้นพื้นที่ จ.นครราชสีมา

เบื้องต้นประเมินว่า พท.จะได้รับเลือกตั้ง ส.ส.สูงสุดราว 220 เสียง ซึ่งคงไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ต้องไปขอความร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่น หากพรรคที่ได้อันดับสามเป็นพรรคภูมิใจไทย(ภท.) ซึ่ง พท.เคยตัดสัมพันธไมตรีไปก่อนหน้านี้แล้ว จะเป็นเงื่อนไขที่ผลักให้ ภท.ไปจับมือกับ ปชป.ซึ่งหากมีเสียงเกินครึ่งหนึ่งก็ได้ข้อยุติ แต่หาก พท.ไปจับมือกับพรรคอันดับถัดๆ ไปแล้วได้เสียงเกินครึ่งก็มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน ส่วนพรรคการเมืองอันดันรองๆ ลงก็จะไหลเข้ามาร่วมรัฐบาลเองโดยอัตโนมัติ

"หลังเลือกตั้งใครจับมือกับพรรคอื่นแล้วได้เกิน 250 เสียงก่อนก็มีโอกาสเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล" นายสมชัย กล่าว

*ชี้โอกาส ปชป.จับมือ ภท.จับมือจัดตั้งรัฐบาลมีความเป็นไปได้มากสุด

ผู้อำนวยการฯ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องจับตาดูคือ ปชป.จับมือกับ ภท.จะได้ ส.ส.เกิน 250 เสียงหรือไม่ เพราะหากผู้สมัครของ ปชป.ได้รับเลือกตั้งสูสีกับ พท.ก็มีโอกาสสูงที่ ปชป.จะไปจับมือกับ ภท.จัดตั้งรัฐบาลได้ หากได้ ส.ส.เกิน 250 เสียง

"กติกาที่บอกว่าพรรคอันดับหนึ่งต้องตั้งรัฐบาลไม่มีในรัฐธรรมนูญ แต่คิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้คงต้องมีการตีรวนเกิดขึ้นแน่นอน ตราบใดที่ตัวเองไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ต้องยึดไปตามกฎหมายที่เสียงในสภาฯ เกินกว่าครึ่งเลือกใครเป็นนายกฯ...ผมคิดว่ามีโอกาสมากที่สุด เพื่อไทยก็จะเป็นฝ่ายค้าน" นายสมชัย กล่าว

หากเป็นกรณีนี้สถานการณ์บ้านเมืองหลังการเลือกตั้งคงไม่สงบเรียบร้อย เพราะกลุ่มคนเสื้อแดงคงออกมาเคลื่อนไหวตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเข้าใจถึงที่มาว่ามีกฎกติกาอย่างไร และพยายามดำเนินการให้กระแสต่อต้านของกลุ่มคนเสื้อแดงค่อยๆ อ่อนแรงลงไป โดยการแก้ปัญหาให้สถานการณ์คลี่คลายลงคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

*พท.จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หาก ปชป.+ภท.ได้ ส.ส.ไม่เกิน 250 เสียง

แต่ในกรณีที่ พท.ชนะการเลือกตั้งแล้ว ปชป.รวมกับ ภท.ยังได้ไม่เกิน 250 เสียง จะทำให้เสียงพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กอื่นๆ ไหลไปรวมกับ พท.ให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจะไม่เกิดปัญหากลุ่มคนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวอีก ขณะที่กลุ่มคนเสื้อเหลืองยังไม่น่าที่จะออกมาเคลื่อนไหวในทันทีทันใด เพราะไม่อยู่ในภาวะที่เข้มแข็งมากพอ แต่อาจออกมาประกาศปรามรัฐบาลไม่ให้ทำอะไรที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลน่าจะประเมินได้ว่าเรื่องใดที่จะถูกกลุ่มคนเสื้อเหลืองออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน

"ถ้ารัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจสักประมาณ 6 เดือนก่อน แสดงฝีมือให้ประชาชนยอมรับก่อน ค่อยๆ เล่นสิ่งที่เป็น agenda คือการนิรโทษกรรมในภายหลัง ผมว่ากระแสต่อต้านรัฐบาลจะลดน้อยลง แต่ถ้าเล่นเรื่องนิรโทษกรรมก่อน เนื่องจากคุณทักษิณใจร้อนอยากกลับประเทศไทย เร่งให้มีกระบวนการประชามติเกิดขึ้นทันที ผมก็เชื่อว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ของสังคมที่รุนแรง" นายสมชัย กล่าว

กรณีที่ พท.ชนะการเลือกตั้งได้เกิน 250 เสียง สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวที่มีความเข้มแข็ง โดยไม่ต้องไปง้อใคร แต่อาจจะรวบรวมพรรคเล็กเข้ามาด้วย ส่วนสถานการณ์บ้านเมืองก็ขึ้นอยู่กับผลงาน

และกรณีที่ ปชป.ชนะการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะได้เกิน 250 เสียงหรือไม่ก็ตาม ปชป.จะมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล และมีแนวโน้มที่พรรคการมืองอื่นๆ จะไหลเข้าไปร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดย พท.จะไม่มีโอกาสไปแข่งจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งกรณีนี้จะเป็นผลดีให้ ปชป.มีความเข้มแข็ง และมีอำนาจต่อรองกับพรรคการเมืองอื่นๆ ขณะที่เงื่อนไขในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงจะน้อยลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ