โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระบุกรณีนักกฎหมายและนักวิชาการหลายคนมีความเห็นเรื่องการกาในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนหรือโหวตโนจะไม่มีผลในทางกฎหมายนั้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะไปมุ่งเน้นเฉพาะในส่วนของมาตรา 88 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ซึ่งใช้เฉพาะกรณีที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว
"สิ่งที่เราพยายามพูดถึงนั้นคือ มาตรา 89 ที่ระบุว่า ภายใต้บังคับมาตรา 88 ในการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนมากที่สุดเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง ตรงนี้ระบุชัดเจนพูดถึงกรณีที่มีผู้สมัครหลายคน และให้ผู้ที่ได้รับคะแนนมากที่สุดเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง แต่ก็ได้เริ่มต้นด้วยประโยคว่าภายใต้บังคับมาตรา 88 หมายความว่าบทบัญญัติในมาตรา 88 ที่ได้กล่าวไว้ด้วยว่าผู้ชนะต้องได้คะแนนมากกว่าคะแนนโหวตโนด้วย เพราะหากเจตนาต้องการให้มาตรา 89 หมายถึงใครก็ได้ที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ชนะ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีข้อความว่า ภายใต้บังคับมาตรา 88 เลย สามารถเขียนไว้ได้เลยว่า ในกรณีที่มีผู้สมัครหลายคนเกินกว่าจำนวนผู้ที่ได้เป็น ส.ส.ให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดได้รับการเลือกตั้งได้เลย" นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าว
ส่วนกรณีที่นายแก้วสรร อติโพธิ และนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง รวมถึงนักวิชาการอีกหลายคนระบุว่าบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนมีสถานภาพเทียบเท่าบัตรเสียนั้น โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า ในมาตรา 82 ของกฎหมายฉบับเดียวกันระบุว่า ให้มีการนับคะแนนบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนและให้มีการประกาศด้วย ส่วนบัตรเสียให้แยกไว้และไม่นับเป็นคะแนน เห็นได้ชัดว่ากฎหมายระบุชัดเจนให้นับคะแนนบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนด้วย ดังนั้นเมื่อบวกกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 ที่ต้องมีการเปิดสภาฯภายใน 30 วันนับจากวันเลือกตั้ง และมาตรา 93 ที่ระบุว่าอย่างน้อยต้องมี ส.ส. 95 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปถึงจะเปิดประชุมสภาฯได้
เมื่อเป็นเช่นนี้หากมีประชาชนเพียง 26 เขตลงคะแนนให้โหวตโนเป็นอันดับที่ 1 ก็จะเข้าเกณฑ์การเลือกตั้งในพื้นที่นั้นเป็นโมฆะ เท่ากับว่าการประชุมสภาฯ เกิดขึ้นไม่ได้ และเป็นการหยุดระบอบทักษิณไปโดยปริยาย จากล่าสุดพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำในทุกการสำรวจ หรือเป็นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์สามารถพลิกขั้วกลับมาตั้งรัฐบาลได้ ประชาชนก็สามารถยับยั้งด้วยเสียงโหวตโนนี้ได้ว่า หากจะกลับมาเป็นรัฐบาล ต้องแนวทางยับยั้งปัญหาต่างๆ ไม่ว่าการจัดการคนเสื้อแดง การจัดการขบวนการจาบจ้วงสถาบัน หรือการปฏิรูปการเมือง ก่อนที่ประชาชนจะตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกใคร
"แสดงว่าตอนนี้เราสามารถนำคะแนนอย่างน้อย 26 เขตเป็นอำนาจต่อรองของประชาชนโดยนิตินัยได้แล้ว แทนที่จะปล่อยให้นักการเมืองต่อรองผลประโยชน์กัน เพียงเท่านี้ก็สามารถหยุดระบบทักษิณได้ ไม่ต้องมีการชุมนุมประท้วงหรือการนองเลือด ถือเป็นหนทางเดียวที่ทำได้ในขณะนี้" นายปานเทพ กล่าว
ด้านนายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดนักวิชาการหรือนักกฎหมายบางคนจึงพยายามออกมาโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์หรือให้ข้อมูลที่บิดเบือนต่อการโหวตโน ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นเพราะการที่ประชาชนจำนวนมากจะโหวตโนนั้นส่งผลกระทบต่อพรรคการเมืองบางพรรคอย่างรุนแรง เนื่องจากคะแนนโหวตโนมีผลในทางกฎหมายตามรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่านายเจิมศักดิ์ และนายแก้วสรร มีความโน้มเอียงให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์
"เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่บุคคลระดับนี้มาวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนโดยอคติ ไม่เป็นไปตามหลักของกฎหมาย ทั้งที่น่าจะมีบทบาทให้ความรู้ที่ถูกต้องต่อประชาชน" นายประพันธ์ กล่าว
ขณะที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า หากมีคะแนนโหวตโนมากแค่ไหนก็ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองได้ แต่ต้องตั้งพรรคการเมืองในลักษณะพรรคมวลชนขึ้นมานั้นเป็นแนวทางที่ตนเองได้ดำเนินการมาแล้ว แต่พรรคการเมืองที่เป็นพรรคมวลชนอย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นของนายทุนเกิดขึ้นได้ยาก สมัยที่ตนเองก่อตั้งพรรคพลังธรรมในปี 31 และในปี 35 ได้รับเลือกตั้งถึง 47 คนจาก ส.ส.ทั้งสภาฯ ที่มีอยู่เพียง 200 กว่าคนเท่านั้น แต่ที่สุดแล้วก็ไม่สามารถเติบโตได้เป็นได้แค่พรรคขนาดกลาง ฝ่าด่านการซื้อเสียงของพรรคการเมืองอื่นไม่ได้ มาถึงวันนี้ก็ยังเห็นว่าจะสามารถตั้งพรรคแบบนั้นได้อีก จึงไม่เห็นทางที่จะปฏิรูปการเมืองโดยพรรคการเมืองได้ แต่เรื่องการรณรงค์ให้ประชาชนโหวตโนมากๆ ยังไม่เคยทำมาก่อน และมีโอกาสที่จะสำเร็จอีกด้วย
ทั้งนี้กลุ่มพันธมิตรฯ และพรรคเพื่อฟ้าดิน จะแถลงข่าวเปิดตัวป้ายหาเสียงโหวตโนชุดสุดท้ายที่จะใช้ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นป้ายข้อความให้ข้อเท็จจริงต่อประชาชนเพื่อตัดสินใจร่วมโหวตโน