นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทิธิผล ประธานสภาอุตุสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า อยากให้ทุกส่วนยอมรับผลการเลือกตั้งที่ออกมาว่าเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย บริสุทธิ์ยุติธรรม มีความโปร่งใส จากนี้ไปก็ต้องเริ่มเข้าสู่กระบวนการของการแก้ไขปัญหาประเทศ คงต้องเริ่มรอดูตั้งแต่หน้าตารัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าน่าจะมีการคัดสรรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน เพราะในช่วงภาวะเช่นนี้ถือเป็นงานที่ค่อนข้างหนักไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างความปรองดอง และการบริหารเศรษฐกิจ
"สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือ เรื่องความปรองดองซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของการทำงานทุกอย่าง เพราะหากยังมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ก็คงจะทำอะไรยั่งยืนลำบาก เรื่องเศรษฐกิจก็ต้องเร่งแก้ไข...คงจะทำไปเรื่อยๆไม่ได้ ต้องมียุทธศาสตร์ มีความจริงใจ กล้าหาญ เสียสละ ทำผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ อย่าทำให้ประชาชนผิดหวัง"นายพยุงศักดิ์ กล่าว
นายพยุงศักดิ์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้รัฐบาลใหม่คงต้องลงมือทำงานในทันที แม้ว่าตอนนี้จะเข้าสู่ครึ่งปีหลังของปี 54 แล้ว และในครึ่งปีแรกเป็นการบริหารประเทศของอีกรัฐบาลหนึ่ง พอมาครึ่งปีหลังก็เปลี่ยนเป็นอีกรัฐบาลหนึ่ง นโยบายต่างๆก็อาจจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่ในส่วนของภาคธุรกิจเอกชนมองว่าไม่น่ามีปัญหา ภาคเอกชนพร้อมทำตามนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้เดินหน้าไปในทิศทางที่ดี
"ไม่มีปัญหาเรื่องนโยบายต่างๆจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะเวลาภาคเอกชนทำงานเราจะเดินทั้งซ้ายและขวาเพื่อให้ไปถึงหมายที่ใกล้เคียงกัน"นายพยุงศักดิ์ กล่าว
นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลคงต้องดูว่าจะทำยังไงให้มีขีดความสามารถมากขึ้น และดูแลภาคเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น SME การกระจายอุตสาหกรรม การสร้างความเจริญยั่งยืนให้เข้าสู่ภูมิภาค ทั้งด้านการค้าการบริการ การท่องเที่ยว การเกษตร ประมง มีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ เพราะเวลานี้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังแยกส่วน แยกกระทรวงกันอยู่ เราคิดว่าน่าจะต้องร่วมกันทำ ต้องมีการบูรณาการ เรื่องการดูแลปัญหาปากท้อง ราคาสินค้าแพงก็เป็นเรื่องหนัก
สำหรับนโยบายที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้ในตอนแรก จะทำได้ครบทุกข้อหรือไม่ ต้องรอดูรายละเอียดวิธีการว่าจะทำอย่างไร บางเรื่องถ้าทำแล้วอาจจะกระทบในภาพรวมก็ต้องมาดูกันในรายละเอียดของวิธีการ
นายพยุงศักดิ์ ยังเชื่อมั่นว่า ในภาพรวมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังและทั้งปีน่าจะยังเป็นไปในทิศทางที่ดี เศรษฐกิจน่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง จีดีพีที่คาดการณ์กันไว้ที่ 4-5% มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากศักยภาพของประเทศไทยยังดีทั้งการส่งออก สินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ดี ยิ่งสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ซึ่งคิดว่าหลังจากนี้ไม่น่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกแล้ว
"เรายังมั่นใจว่าจีดีพี 4-5% มีความเป็นไปได้สูง ถ้าสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ไร้ความกังวลไปได้ในส่วนหนึ่งแล้ว และหลังจากนี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก เพราะประเทศไทยใช้ระบอบประชาธิปไตย ถ้าผลจากการใช้ระบอบประชาธิปไตยออกมาแบบนี้แล้วยังมีอะไรเกิดขึ้นอีก ประเทศไทยก็คงจะลำบาก ไม่อยากให้ดัชนีความสุขของคนในประเทศถอยลงไปกว่านี้ มันควรจะดีขึ้น และอยู่ใช้ในแนวหน้าด้วยซ้ำไป"นายพยุงศักดิ์ กล่าว
ส่วนเรื่องจะยกเลิกกองทุนน้ำมันนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะปล่อยให้ราคาน้ำมันเป็นไปตามกลไกตลาดโลกอย่างแท้จริง แต่ก็ควรคิดเครื่องมือมาตรการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชน เมื่อภาวะราคาน้ำมันมีราคาผันผวนมาก เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ภาคเอกชนแบกรับภาระสูงในช่วงที่ราคาน้ำมันผันผวน
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งแรกที่รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการคือจะปฏิบัติตามที่ประกาศนโยบายไว้อย่างไร เพราะพูดไว้หลายเรื่อง แต่ยังมีความไม่ชัดเจนและยังไม่ครบถ้วน เช่น นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่มาของค่าใช้จ่ายในการสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจขั้นพื้นฐาน และนโยบายประชานิยม
แต่เรื่องที่ต้องทำมันมีมากกว่านั้น เช่น การปรับโครงสร้างการผลิต ความสามารถทางการแข่งขัน เรื่องกฎระเบียบ การบังคับใช้กฎหมาย ทรัพยากร การจัดห่วงโซ่การผลิต
"คำแรกที่อยากได้ยิน คือ จะนำประเทศไทยไปสู่การแข่งขันที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างไร"นายพรศิลป์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
อย่างไรก็ตาม 2 อย่างที่รัฐบาลต้องแก้ไขให้ได้ ข้อแรก คือ ลดความเหลื่อมล้ำอย่างไร จะทำให้เกษตรกรและผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างไร นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทจะทำอย่างไร แนวทางการจำนำราคาแทนการประกันรายได้เกษตรจะเป็นอย่างไร และที่สำคัญ คือ การปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งน่าจะมีแทรกซึมอยู่ในทุกภาคส่วน
"เรื่องสินค้าเกษตร ก็ต้องมาดูกันว่าที่ประกาศจะรับจำนำนั้นจะทำแบบเดิมหรือจะเปลี่ยนรูปแบบ เพราะต้องทำให้เราแข่งขันได้ ไม่ว่าจะประกันรายได้ หรือรับจำนำก็แล้วแต่ ต้องทำให้สินค้าเกษตรของไทยแข่งขันได้"นายพรศิลป์ กล่าว