จนถึงขณะนี้ประชาชนคนไทยก็ได้ทราบผลการเลือกตั้งทั่วประเทศกันไปแล้ว ใครได้เฮ... หรือห่อเหี่ยว ก็สุดแท้แต่ว่าจะเลือกใครเชียร์ใคร การที่บ้านเมืองเรามีระบบประชาธิปไตยเป็นรากฐานทำให้คนไทยมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ ส่วนแรงจูงใจในการเลือกนั้นก็แตกต่างกันไป บางคนอาจจะเลือกด้วยความคาดหวังว่านโยบายของพรรคที่ตัวเองชื่นชอบจะนำพาประเทศให้ก้าวไกลไปข้างหน้า เพื่อนำความผาสุขและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาสู่ประชาชน ขณะที่บางคนอาจจะเลือกพิจารณาจากภาพลักษณ์อันน่าเชื่อถือของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
การเลือกตั้งครั้งล่าสุดของไทยไม่เพียงแต่จะถูกจับตาจากเหล่าผู้สังเกตุการณ์ภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นที่สนใจของนักวิเคราะห์และสื่อทั่วโลกด้วย อาจเป็นเพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยได้เดินทางผ่านคลื่นร้อนระอุทางการเมืองและรอยแยกแห่งความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ผ่านพ้นไปอย่างราบรื่นโดยไม่มีเหตุรุนแรง ทำให้รัฐบาลต่างชาติได้ออกมาแสดงความพอใจและโล่งใจไปกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย รวมถึง รัฐบาลสหรัฐ จีน และอินโดนีเซีย ไม่เว้นแม้แต่บุคคลสำคัญของโลกอย่างนายบัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และนางออง ซาน ซูจี ผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่า ที่กล่าวแสดงความยินดีกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะ (ว่าที่) นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประวัติศาสตร์ไทย และชื่นชมการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของไทยเป็นอย่างมาก ส่วนตลาดหุ้นและตลาดการเงินบ้านเราก็ดีดตัวขานรับผลการเลือกตั้งอย่างคึกคัก โดยดัชนี SET ทะยานขึ้นเกือบ 50 จุดในวันที่ 4 ก.ค. ขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมากในช่วงเช้าของวันที่ 4 ก.ค. เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติแห่ซื้ออย่างคึกคัก
ไม่เพียงแต่เสถียรภาพทางการเมืองไทยแล้ว ต่างชาติยังให้ความสนใจกับอนาคตของเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสถานะการคลังของรัฐบาลภายใต้การคุมบังเหียนของพรรคเพื่อไทย อาจจะเป็นเพราะเศรษฐกิจของไทยได้เดินทางผ่านโจทย์สุดหินมานับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ มาจนถึงวิกฤตหนี้ยุโรปในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้เราได้ยินได้ฟังผู้เชี่ยวชาญในบ้านเมืองเราวิเคราะห์เจาะลึกและคาดการณ์ทิศทางอนาคตของเศรษฐกิจไทยกันไปบ้างแล้วทั้งในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง ซึ่งนั่นเป็นการวิเคราะห์แบบ “ไทยมองไทย" แต่เพื่อให้ผู้อ่านเห็นมุมมองที่กว้างขึ้น คอลัมน์ In Focus สัปดาห์นี้ จึงขอนำเสนอการวิเคราะห์แบบ “เทศมองไทย" เพราะเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากทราบว่า "คนนอกบ้าน"อย่างนักวิเคราะห์และสื่อต่างชาตินั้น เขามองอนาคตเศรษฐกิจบ้านเรากันอย่างไรบ้าง
เริ่มกันที่ภาคธุรกิจของอินโดนีเซียที่ขานรับผลการเลือกตั้งของไทยว่า การเลือกตั้งที่ราบรื่นตามระบอบประชาธิปไตยของไทยจะช่วยดึงนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่ตลาดไทยได้มากขึ้น โดยหนังสือพิมพ์จาการ์ต้า โพสต์ รายงานโดยอ้างคำกล่าวของนายโซฟยัน วานันดี ประธานสมาคมธุรกิจอินโดนีเซียว่า ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยจะช่วยสนับสนุนเสถียรภาพและเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนในภาพรวมได้ และคาดว่าไทยอาจจะกลับมาเป็นคู่แข่งทางการค้าของอินโดนีเซียได้อีกครั้ง หลังจากที่การค้าของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการเมืองในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่วอลล์สตรีท เจอร์นัล มองว่า นโยบายประชานิยม หรือ populism policies ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งรวมถึงการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการเป็น 2 เท่านั้น อาจจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายทั้งในภาครัฐและเอกชน แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ไทยอาจต้องติดบ่วงเงินเฟ้อทั้งๆที่เศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในทุกภาคส่วน และงบประมาณการใช้จ่ายที่ต้องหมดไปเพราะการตอบสนองนโยบายประชานิยม
ด้านสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นมองว่า ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ จนทำให้ไทยมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก แต่ก็เตือนว่านโยบายประชานิยมของเพื่อไทยอาจต้องใช้เงินมากถึง 7.5 ล้านล้านบาท สูงกว่างบประมาณของประเทศถึง 5 เท่า ซึ่งหมายความว่าถ้ารัฐบาลดำเนินนโยบายประชานิยมเหล่านี้จริง ไทยอาจะจะตกอยู่ในภาวะการคลังหดตัวภายในระยะเวลาอันสั้น
นอกจากนี้ ซีเอ็นเอ็นระบุว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้แสดงความวิตกกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจ และต้องการให้ผู้นำประเทศลดช่องว่างของรายได้กับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และผู้มีสิทธิ์เลือกจำนวนไม่น้อยที่ฝากความหวังไว้กับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและโครงการเรียนฟรีของลูกหลาน
ไฟแนนเชียล ไทม์ส มองว่า รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของคุณยิ่งลักษณ์อาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งความยากจนยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของไทย ขณะที่เงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาที่คุกคามเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง ไฟแนนเชียล ไทมส์ ระบุว่า หากรัฐบาลชุดใหม่สามารถใช้ความรู้และประสบการณ์ฟันฝ่าความท้าทายดังกล่าวไปได้ ก็จะยิ่งเพิ่มพูนประสบการณ์ในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและจะทำให้คุณยิ่งลักษณ์อยู่ในจุดที่แข็งแกร่งมากขึ้น
ขณะที่รายงานของสำนักข่าวบีบีซีระบุว่า แม้ตลาดหุ้นไทยและเงินบาทแข็งค่าขึ้นขานรับชัยชนะของพรรคเพื่อไทย แต่กลุ่มผู้บริหารภาคธุรกิจกลับไม่มั่นใจว่า สถานะการคลังของไทยในเวลานี้จะสามารถรองรับนโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยได้จริงหรือไม่ นักวิเคราะห์บางคนของบีบีซีกล่าวว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีของไทยที่อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว ประกอบกับแผนการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น อาจทำให้ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสูงกว่าที่คิด ซึ่งจะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะและอัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
บทวิเคราะห์ของ วอดีน อิงแลนด์ บนเว็บไซต์ของบีบีซีกล่าวว่า นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไรและไม่ว่าใครจะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่สิ่งที่นักลงทุนกังวลมากที่สุดคือ “วิกฤตเงินเฟ้อ" ที่เป็นผลมาจากนโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและนโยบายต่างๆที่ส่อเค้าว่าจะต้องใช้งบประมาณสูงมาก นอกจากนี้ ปัญหาเงินเฟ้อยังเกิดขึ้นจากการที่คนไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายกว่าแต่ก่อน ขณะที่วิถีชีวิตของคนไทยก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากที่เคยมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียงในท้องถิ่นของตน ก็เปลี่ยนมาเป็นการดำรงชีพแบบบริโภคนิยม และให้ความสนใจกับกระแสโลกาภิวัฒน์มากขึ้นในปัจจุบัน
ล่าสุด สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ที่ประกาศจับตานโยบายเศรษฐกิจและการคลังของพรรคเพื่อไทย โดยเตือนว่า มีความเสี่ยงที่สถานะการคลังของรัฐบาลไทยจะเผชิญกับภาวะขาลง ถ้ารัฐบาลชุดใหม่ดำเนินนโยบายมากมายตามที่ได้ประกาศเอาไว้ในช่วงเลือกตั้ง รวมถึงการรับจำนำข้าวแทนการรับประกันราคา การฟื้นฟูระบบประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค และการจัดหาแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียนประถมทุกคน ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะส่งผลให้การใช้จ่ายด้านการคลังของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
S&P วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า การดำเนินนโยบายต่างๆมากมายโดยไม่มีการจัดสรรรายได้ที่เหมาะสมนั้น จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อฐานะการคลังของไทย โดยระบุว่าปัจจุบันสถานะการคลังของไทยก็ถูกกระทบอยู่ก่อนแล้วอันเนื่องมาจากมาตรการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกและนโยบายประชานิยมที่มีการนำมาใช้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และหากสถานะการคลังถูกกระทบต่อไป ก็อาจจะเป็นผลเสียต่ออันดับความน่าเชื่อถือในปัจจุบันของไทย
นอกจากนี้ S&P ยังจับตาความคืบหน้าทางการเมืองของไทยต่อไป เนื่องจากความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง ทำให้การดำเนินโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานระยะยาวและการปฏิรูปการศึกษาเป็นไปอย่างยากลำบาก และอาจจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน S&P มองว่าขอบเขตและจังหวะเวลาในการดำเนินนโยบายเหล่านี้มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลางด้วย
ทั้งหมดที่นำเสนอข้างต้นนั้น เป็นเพียงบางช่วงบางตอนของเสียงต่างชาติที่วิเคราะห์อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย และไม่ว่าพวกเขาจะมองบ้านเมืองของเราจากหน้าต่างบานไหนก็ตาม คอลัมน์ In Focus ก็ขอกำลังใจให้ผู้นำและรัฐบาลชุดใหม่ฟันฝ่าปัญหาและความยุ่งยากในเรื่องต่างๆไปได้ เพราะ "อำนาจที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง" และที่สำคัญ ...ประชาชนคนไทยได้เลือกแล้ว