นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ในฐานะประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย ระบุในทวิตเตอร์ถึงกรณีศาลโลกมีคำวินิจฉัยกรณีไทย-กัมพูชาว่า เห็นข้อดีอยู่บ้างคือการยุติความเสี่ยงที่จะเกิดการเผชิญหน้าและปะทะกันในบริเวณที่พิพาทกับจะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาโดยสันติ
แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำ คือการเตรียมการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยศาลโลกด้วยความละเอียดรอบคอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้ดีที่สุด รัฐบาลไทยควรคำนึงคือสถานะของประเทศในประชาคมโลก การร่วมมือกับอาเซียน สถานะและบทบาทของไทยในอาเซียนและการแก้ปัญหาความขัดแย้งกับกัมพูชา
ทั้งนี้ การร่วมมือกับอาเซียนนั้นเป็นข้อหนึ่งของคำวินิจฉัย ขณะเดียวกันอาเซียนก็ลังจะพัฒนาไปเป็นประชาคมซึ่งไทยควรมีส่วนร่วมผลักดันส่งเสริมอยู่แล้ว ส่วนการแก้ปัญหาความขัดแย้งกับกัมพูชานั้นนอกจากการร่วมมือกับอาเซียนแล้วการหารือแบบทวิภาคีก็สำคัญและควรมุ่งไปสู่ความเป็นมิตรที่ดีต่อกัน
"มาถึงวันนี้สังคมไทยคงเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่ากรณีปราสาทพระวิหารและพื้นที่พิพาทไม่ใช่เรื่องในกรอบทวิภาคีแต่เป็นพหุภาคีหรือหลายประเทศมานานแล้ว ที่พูดอย่างนี้เห็นได้จากการที่ศาลโลกวินิจฉัยว่าให้ทั้งสองประเทศให้ความร่วมมือกับอาเซียนต่อไปซึ่งแปลว่ามีหลายประเทศเกี่ยวข้องมานานแล้ว"
จุดอ่อนของรัฐบาลไทยที่ผ่านมาคือการไม่เปิดเผยความจริงให้ประชาชนไทยทราบและทำให้เข้าใจผิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่าง 2 ประเทศเท่านั้น
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลไทยอธิบายว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องทวิภาคีทำให้ฝ่ายไทยคำนึงถึงมิตรและการสนับสนุนจากนานาชาติน้อยเกินไป และการที่รัฐบาลไทยใช้ท่าทีที่ขอให้ได้ค้านไว้ก่อนโดยไม่คำนึงถึงมติหรือความเห็นของอาเซียนและยูเนสโกทำให้ศาลโลกฟังฝ่ายไทยน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
"การที่รัฐบาลไทยในอดีตเรื่อยมาจนถึงรัฐบาลสมัครได้พยายามใช้วิธีการเจรจาหารือระหว่าง 2 ประเทศก็ด้วยความเข้าใจว่าควรหลีกเลี่ยงการขึ้นศาลโลก รัฐบาลสมัครโดยคุณนพดลรู้ว่าถึงอย่างไรและไม่ว่าไทยจะมีความเห็นอย่างไร ปราสาทพระวิหารก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนจึงพยายามหาทางไม่ให้มีการนำเรื่องแผนที่เข้าสู่การพิจารณา ท่าทีที่รัฐบาลสมัครโดยคุณนพดลจึงเป็นความพยายามรักษาดินแดนของไทยและหลีกเลี่ยงการทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องพหุภาคีโดยเฉพาะการขึนศาลโลก"
แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลอภิสิทธิ์มาทำให้การเจรจาในระดับทวิภาคีเป็นไปไม่ได้และทำใให้เรื่องถุกนำไปสู่องค์กรระหว่างประเทศอย่างอาเซียนและศาลโลก
"เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยควรต้องสรุปบทเรียนเพื่อก้าวไปข้างหน้าให้ถูกทาง ลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและพยายามทำเรื่องร้ายให้กลายเป็นดีให้ได้"