"ฮุนเซน"เผยกัมพูชาส่งร่างข้อตกลงเรื่องการปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกให้ไทย-อินโดฯแล้ว

ข่าวต่างประเทศ Friday July 22, 2011 13:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เปิดเผยว่า กัมพูชาได้เสนอข้อตกลงกับไทย เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือศาลโลก ว่าด้วยการกำหนดเขตปลอดทหารรอบพื้นที่ปราสาทพระวิหาร

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายกฯกัมพูชากล่าวในการแถลงข่าวเพื่อแสดงจุดยืนของกัมพูชาที่มีต่อกรณีพิพาทชายแดนกับไทยว่า "เมื่อวานนี้ เราได้ส่งร่างข้อตกลงให้กับไทย อินโดนีเซีย ศาลโลก และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ"

โดยร่างข้อตกลงที่กัมพูชาเสนอเป็น 7 ประเด็น มีใจความว่า ในประเด็นการถอนเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมดออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราวตามคำสั่งของศาลโลกในทันทีนั้น กัมพูชาและไทย ร่วมด้วยคณะผู้สังเกตการณ์ของอินโดนีเซีย จะแจ้งให้ศาลโลกได้รับทราบเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆของเจ้าหน้าที่ทหารและตำแหน่งประจำการของทหารภายในเขตปลอดทหาร ณ วันที่ 18 ก.ค. 2554

สำหรับการรับประกันเรื่องการเข้าถึงปราสาทพระวิหารอย่างเป็นอิสระของทางกัมพูชา และการคงการบริหารจัดการภายในเขตปลอดทหารให้เป็นไปตามปกตินั้น แต่ละฝ่ายจะรายงานต่อศาลโลกถึงสถานะของกิจกรรมทั้งหมดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหารภายในเขตปลอดทหาร ณ วันที่ 18 ก.ค. 2554

หลังจากที่ข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้ ทั้งสองฝ่ายจะขอให้มีการมอบหมายและจัดส่งคณะผู้สังเกตการณ์ของอินโดนีเซียในนามของอาเซียน ตามที่ศาลโลกมีคำสั่งและตามที่ได้มีการตกลงกันในแถลงการณ์ของประธานอาเซียนเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่กรุงจาการ์ต้า

เมื่อคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้าประจำการในพื้นที่ ทุกฝ่ายจะร่วมมือกับคณะผู้สังเกตการณ์ เพื่อกำหนดตำแหน่งบนจุดเอ บี ซี และดี ของเขตปลอดทหาร

ทั้ง 2 ฝ่ายภายใต้ความร่วมมือกับคณะผู้สังเกตการณ์ของอินโดนีเซียจะร่างกำหนดเวลาในการถอนทหารทั้งหมดออกจากเขตปลอดทหารในทันที

เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งศาล ข้อตกลงดังกล่าวไม่ควรจะมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) และคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ในเรื่องของการปักปันเขตแดน และการรับประกันความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณชายแดน

การมอบหมายงาน ความรับผิดชอบ และขอบเขตอำนาจหน้าที่ (ทีโออาร์) ของคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย และความรับผิดชอบของกัมพูชาและไทยในการอำนวยความสะดวกให้กับคณะผู้สังเกตการณ์นั้น จะต้องมีการกำหนดไว้ในข้อตกลงต่างหากอีกฉบับซึ่งจะมีการลงนามโดยกัมพูชา ไทย และอินโดนีเซีย ภายใต้คำสั่งศาล

นายกฯกัมพูชากล่าวว่า หากพื้นที่ปราสาทพระวิหารถูกกำหนดให้เป็นเขตปลอดทหาร ก็จะไม่มีเหตุนองเลือดระหว่าง 2 ประเทศเกิดขึ้นอีก

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ศาลโลกมีคำสั่งให้กัมพูชาและไทยถอนทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราวรอบพื้นที่ปราสาทพระวิหารในทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ