เอแบคโพลล์ เผยประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ที่ได้รับการคาดหมายจะมาเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 เลือกนักการเมืองที่มีพฤติกรรมทุจริตคอรัปชั่นเข้ามารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่
"พฤติกรรมยอดแย่หรือยี้ของกลุ่มรัฐมนตรี และที่ปรึกษา ผู้ติดตามรัฐมนตรี ที่ไม่ต้องการให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เลือกมาเป็นรัฐมนตรี ได้แก่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.7 ระบุไม่เอาคนที่คดโกง เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ส่วนตัว ครอบครัวและพวกพ้อง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
นอกจากนี้ชาวบ้านยังระบุพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคนที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ได้แก่ คนที่หลอกลวงชาวบ้าน ไม่ทำตามที่หาเสียงไว้, คนที่ใช้เส้น ขี้เบ่ง กร่าง เจ้ายศ เจ้าอย่าง, คนที่ข่มขู่ คุกคาม แทรกแซง, คนที่ชอบกลั่นแกล้ง ล้างแค้น ทีใครทีมัน พวกใครพวกมัน, คนที่เลือกปฏิบัติ, คนที่เข้าถึงยาก หาตัวไม่เจอ แย่งชิงอำนาจ มีคดีติดตัว และก้าวร้าว เป็นต้น
สำหรับกระแสข่าวที่ไม่ชอบในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลและร่างนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 74.3 ระบุเป็นข่าวรัฐบาลจะไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ทันที มีเงื่อนไขในสิ่งที่จะเป็นนโยบายแต่ไม่บอกชาวบ้านช่วงเลือกตั้ง รองลงมาร้อยละ 72.8 ระบุเป็นข่าวการเอาคนที่มีภาพลักษณ์ไม่ดี หรือ "ยี้" มาเป็นรัฐมนตรี ตามด้วยร้อยละ 71.7 ระบุข่าวความวุ่นวายแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรี, ร้อยละ 68.4 ระบุข่าวนโยบายต่างประเทศที่จะทำให้ประเทศชาติสูญเสียดินแดน และร้อยละ 63.1 ระบุข่าวนักการเมืองและกลุ่มผู้สนับสนุนการเมืองใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย ไม่ทำตามระเบียบกฎเกณฑ์
ผลสำรวจดังกล่าวยังพบ 5 อันดับแรกของคนชอบต่อกระแสข่าวดังกล่าว โดยอันดับแรกหรือร้อยละ 76.9 ระบุชอบท่าทีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รองลงมาร้อยละ 74.9 ระบุการร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายรุนแรง อันดับสามร้อยละ 70.7 ระบุชอบท่าทีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อปัญหาการเมือง อันดับสี่ร้อยละ 64.4 ชอบข่าวตัวแทนต่างชาติเข้าสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ และอันดับห้าร้อยละ 60.8 ชอบข่าวการปรับตัว ปรับปรุงการทำงานการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์
และจากการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึกกลุ่มคนที่เลือกพรรคเพื่อไทย พบว่า ชาวบ้านบางคนฝากถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรี ขอให้ลงพื้นที่ทันที อย่าอยู่แต่ในทำเนียบ อยากได้ ครม. สัญจรสู่ท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศ และอยากให้เปิดสำนักงานที่ทำงานของนายกรัฐมนตรีตามภูมิภาคต่างๆ ไม่ใช่อยู่แต่ที่กรุงเทพฯ คอยให้ชาวบ้านเดินทางไปหา โดยส่วนใหญ่ฝากข้อความไปถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ขอให้ดูแลคนยาก อย่ามองข้ามคนจน
"รัฐบาลชุดใหม่โดยพรรคเพื่อไทยและว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องแสดงออกให้สาธารณชนเห็นประจักษ์และวางใจ ได้ว่าผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีใน ครม.ยิ่งลักษณ์ 1 จะถูกใจใช่เลยกับความคาดหวังของทั้งผู้ที่เลือกและไม่เลือกรัฐบาล" นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ กล่าว
ผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลต้องได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองและภาคประชาชนทุกหมู่เหล่าเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ จึงจะทำให้นโยบายเหล่านั้นสำเร็จบรรลุตามเป้าหมายในเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมโดยรวมได้ แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลไม่สนใจเสียงสะท้อนของสาธารณชน เช่น เอาคนที่มีภาพลักษณ์ "ยี้" มาเป็นรัฐมนตรี หรือมีนโยบายต่างประเทศที่จะทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน ก็อาจทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 เริ่มนับถอยหลังตั้งแต่ยังไม่เริ่มเข้าสู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เพราะการเมืองภาคประชาชนก็จะเข้ามามีพลังเป็นแรงเสียดทานต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในเวลาอันสั้นและรวดเร็ว
"นางสาวยิ่งลักษณ์และรัฐบาลชุดใหม่จึงต้องใช้เวลานี้เลือกเฟ้นคนดี มีฝีมือเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ สุภาพถ่อมตัว เป็นกันเอง เข้าถึงประชาชนทุกหมู่เหล่าเหมือนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ผลที่ตามมาก็คือ แรงเชียร์และกำลังใจจากสาธารณชนที่จะให้โอกาสอย่างแท้จริงเพื่อช่วยผลักดันขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้สำเร็จลุล่วงตามเจตนารมณ์ของนางสาวยิ่งลักษณ์ที่ตั้งมั่นเอาไว้" นายนพดล กล่าว
ทั้งนี้ เอแบคโพลล์ได้ทำวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง เสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อการจัดตั้งรัฐบาลและนโยบาย ถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จากประชาชนใน 17 จังหวัดจำนวนทั้งสิ้น 2,178 ตัวอย่าง ช่วงวันที่ 18-23 ก.ค.ที่ผ่านมา