จากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศผลรับรอง ส.ส.ทั้งระบบบัญชีรายชื่อ และระบบเขต 496 คน ซึ่งถือว่าได้เกิน 95% ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ทำให้การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สามารถเปิดประชุมได้ตามระยะเวลาที่กำหนด คือวันที่ 1 สิงหาคมนี้ หลังจากนั้นในที่ประชุมสภาก็จะมีการเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และการสรรหารัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยกันบริหารบ้านเมืองต่อไป โดยประชาชนส่วนใหญ่ต่างหวังว่า การสรรหารัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ครั้งนี้จะเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,832 คน ระหว่างวันที่ 25 - 30 กรกฎาคม 2554 สรุปผล ดังนี้
"5 กระทรวง" ที่ประชาชนสนใจในการสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง รมต.มากที่สุด อันดับ 1 กระทรวงมหาดไทย 77.89% เพราะ เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทและมีอำนาจมากในการปกครองบ้านเมืองให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย เป็นตำแหน่งสำคัญที่นักการเมืองต้องการ ฯลฯ
อันดับ 2 กระทรวงการคลัง 72.03% เพราะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเงินของประเทศและปากท้องประชาชน ผู้ที่จะเข้ามาจึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ ฯลฯ
อันดับ 3 กระทรวงกลาโหม 70.00% เพราะทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเร่งด่วนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการสร้างขวัญกำลังให้กับกองทัพหลังเหตุการณ์เครื่องบินตก ฯลฯ
อันดับ 4 กระทรวงศึกษาธิการ 67.93% เพราะการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ อยากเห็นการปฏิรูปการศึกษาสำเร็จเป็นรูปธรรม ฯลฯ
อันดับ 5 กระทรวงพาณิชย์ 56.46% เพราะทำหน้าที่ดูแล ควบคุมราคาสินค้า, อยากให้มีนโยบายปรับลดราคาสินค้าเพื่อลดภาระของประชาชน ฯลฯ
สำหรับ"คุณสมบัติที่ดี" ของ "รัฐมนตรี" ที่ประชาชนต้องการ อันดับ 1 เป็นคนดี มีคุณธรรม /ซื่อสัตย์ สุจริต /ไม่โกงกินบ้านเมือง 42.55% อันดับ 2 มีความรู้ ความสามารถ /มีความเป็นผู้นำ เป็นที่ยอมรับ น่าเชื่อถือ /มีวิสัยทัศน์กว้างไกล 23.62% อันดับ 3 มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติ 14.90% อันดับ 4 มีนโยบายการทำงานที่ชัดเจน /ทำงานเพื่อส่วนรวม นึกถึงประชาชนเป็นสำคัญ 14.25% อันดับ 5 ต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์หรือทำงานในกระทรวงที่จะมาดำรงตำแหน่ง /มีความเข้าใจในองค์กร 4.68%
เมื่อถามว่าทำไมการสรรหารัฐมนตรีที่ดี และมีความรู้ความสามารถจึงทำได้ยาก อันดับ 1 มีเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ความเป็นอาวุโสภายในพรรค มีคุณประโยชน์กับพรรคมานาน 50.61% อันดับ 2 ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มีความรู้ความสามารถไม่ต้องการที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง 18.29% อันดับ 3 การจัดสรรตำแหน่งต้องดูจากโควตา /ระบบสัดส่วน จำนวนที่นั่ง ส.ส. ของพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคที่ได้ 16.46% อันดับ 4 กระทรวงสำคัญ ๆ มักเป็นของพรรคแกนนำรัฐบาลที่ได้รับเสียงข้างมากเป็นผู้จัดสรรเอง 7.93% อันดับ 5 ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งส่วนใหญ่ไม่มีความรู้หรือไม่มีประสบการณ์ในกระทรวงนั้นๆ /เป็นคนจากภายนอกเข้ามา 6.71%
ส่วน"ความคาดหวัง"ของประชาชนต่อรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อันดับ 1 คงจะสมหวัง 52.91% เพราะรัฐบาลมี ส.ส.เก่งและมีความรู้ความสามารถให้เลือกสรรอยู่มาก ,ส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก และมีประสบการณ์ทางการเมืองมานาน ฯลฯ อันดับ 2 ไม่น่าสมหวัง 21.97% เพราะจากกระแสข่าวหรือจากคำบอกเล่าของ ส.ส.ภายในพรรคจะเห็นได้ว่ามีการวางตัว ว่าที่ รมต.ไว้แล้ว โดยการตัดสินใจไม่ได้มาจากความเห็นส่วนใหญ่จาก ส.ส.ในรัฐบาล ฯลฯ อันดับ 3 สมหวังแน่นอน 13.01% เพราะตำแหน่ง รมต. ในแต่ละกระทรวงมีความสำคัญและเป็นการเริ่มต้นในการบริหารประเทศของรัฐบาล หากเลือก รมต. ที่ดีและเป็นที่ตรงใจของประชาชนก็จะช่วยลดกระแสการถูกคัดค้านลงได้ ฯลฯ อันดับ 4 ไม่สมหวัง 12.11% เพราะสถานการณ์ทางการเมือง ณ วันนี้ เปลี่ยนไปมาก ไม่มีความแน่นอน ,ปัญหาเดิมในแต่ละกระทรวงที่ยังแก้ไม่ได้ ยังคงคั่งค้างอยู่มาก ไม่ว่าใครจะเข้ามาทำงานก็เป็นเรื่องที่ยาก ,ไม่มั่นใจในเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ ฯลฯ