ศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง แนวโน้มความสุขมวลรวม (Gross Domestic Happiness หรือ GDH) ของคนไทยภายในประเทศประจำเดือนกรกฎาคม 2554 พบว่า ในการสำรวจครั้งล่าสุด แนวโน้มความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศลดต่ำลงจาก 7.55 คะแนนในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมหลังการเลือกตั้ง มาอยู่ที่ 6.80 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
สาเหตุสำคัญ คือ สถานการณ์ทางการเมือง การแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรี ความวุ่นวายทางการเมือง ปัญหาสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ราคาสินค้า และปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาน้ำท่วม สภาพแวดล้อมที่พักอาศัย เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่ทำให้คนไทยมีความสุข พบว่า อันดับแรก ความสุขที่ได้เห็นความจงรักภักดีของคนในชาติสูงสุด รองลงมาคือ บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวอยู่ที่, ความสุขต่อสุขภาพใจ และความสุขต่อสุขภาพกาย รองๆ ลงไปคือ ความสุขต่อวัฒนธรรมประเพณีระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เช่น การช่วยเหลือกัน นอกจากนี้ยังมีความสุขต่อการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่ดี หน้าที่การงาน อาชีพที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ระบบการศึกษาของประเทศ สภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือน ภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาต่างชาติ และความเป็นธรรมทางสังคมและกระบวนการยุติธรรม สภาพแวดล้อมที่พักอาศัย เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ราคาสินค้า และสถานการณ์การเมือง ตามลำดับ
เมื่อจำแนกกลุ่มประชาชนออกตามภูมิภาคต่างๆ พบว่า ขณะที่ ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีระดับความสุขมวลรวมสูงที่สุด ขณะที่คนกรุงเทพมหานครมีค่าความสุขมวลรวมต่ำสุดในทุกตัวชี้วัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสุขของคน กทม. ต่อสถานการณ์ทางการเมือง โดยมีสาเหตุจาก การแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรี ความวุ่นวายทางการเมือง ความขัดแย้งของกลุ่ม ส.ส. ในพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย