นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้เขียนข้อความผ่านเฟสบุ๊ค ตอบโต้กรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง เขียนเฟสบุ๊คกล่าวหานายธีระชัย ที่อาจได้รับตำแหน่ง รมว.คลัง ในรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์? 1" ว่า เพราะได้ทำงานรับใช้การเมือง จนได้รับตำแหน่ง
นายธีระชัย ระบุว่าตามที่ นายกรณ์ได้พาดพิงว่าเขาดำเนินการตรวจสอบกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกฯ โดยหวังผลตอบแทน เป็นการกล่าวหาว่า การทำงานของ กลต. ไม่ถูกต้องตรงไปตรงมา ซึ่งขอชี้แจงว่า เรื่องนี้ กลต.ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ปกติ โดยเมื่อแรกที่มีการจัดตั้ง กลต. ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักดีว่า ทุก ๆ เรื่องที่ กลต. จะต้องดำเนินการ จะเกี่ยวข้องกับเงินและผลประโยชน์จำนวนมาก และหลายบริษัทก็จะมีนักการเมือง หนุนหลังอยู่จึงต้องออกแบบการทำงานให้เข้มงวดกว่าองค์กรอื่น ๆ
นายธีระชัย ระบุว่าการทำงานจำเป็นต้องออกแบบขั้นตอน ให้มีการถ่วงดุลระหว่างเลขาธิการ(ซึ่งแต่งตั้งโดยภาคการเมือง) กับพนักงานภายใน กลต. ไว้อย่างหนาแน่นแบบอัตโนมัติ ระบบงานที่ออกแบบไว้นั้นกรณีหากเลขาธิการอยากจะบิดเบือนเรื่อง จะมีด่านป้องกันถึง 5 ชั้น ชั้นที่หนึ่ง เจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริงนั้น กฎหมายจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไว้โดยตรงเต็มที่ โดยเลขาธิการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว
ชั้นที่สอง เมื่อรวบรวมข้อเท็จจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะนำเข้าพิจารณาใน Enforcement Committee (คณะงานตรวจสอบ) ซึ่งประกอบด้วยผู้อำนวยการฝ่ายงาน line function หรือฝ่ายงานหลักทุกฝ่ายงานมาประชุมร่วมกัน โดยมีรองเลขาธิการ กลต. เป็นประธาน ซึ่งในขั้นนี้ เลขาธิการยังไม่เข้าไปร่วม
ขั้นที่สาม เมื่อ Enforcement Committee มีการลงมติตัดสินเรื่องแล้ว จึงจะมีการเสนอเรื่องต่อเลขาธิการ โดยจะต้องเสนอตามสายงาน ผ่านหลายระดับ หากใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ต้องบันทึกความเห็นเอาไว้
ขั้นที่สี่เมื่อเลขาธิการสั่งการไปแล้ว ฝ่ายตรวจสอบกิจการภายในก็มีการสุ่มตรวจเรื่องตามหลังอีกครั้ง
ขั้นที่ห้า หากเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เช่น กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็จะมีการนำเสนอให้ บอร์ด กลต. รับทราบด้วย เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและความเห็นจากบอร์ด
สำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบริษัท ชินคอร์ป ยังมีการตรวจสอบซ้ำพิเศษอีกหนึ่งชั้นด้วย โดยคณะกรรมการ คตส. ซึ่งเป็นคณะกรรมการ ที่ตั้งขึ้นภายหลังการปฏิวัติรัฐประหาร เท่ากับมีการถ่วงดุลตรวจสอบกันถึง 6 ชั้น
"การคิดว่า เลขาธิการ กลต. สามารถจะบิดเบือนเรื่อง เพื่อหาประโยชน์ทางการเมืองนั้น เป็นการไม่ให้เกียรติพนักงาน กลต. หากผมมีการฝืนหรือบังคับใจเจ้าหน้าที่ คงจะมีใครไปฟ้องสื่อมวลชนไปแล้วล่ะครับ แต่ที่สำคัญ จะเป็นการไม่ให้เกียรติ คุณนวพร เรืองสกุล ซึ่งเป็นบุคคลที่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีคลังได้เลือกเฟ้นด้วยตนเอง และคัดหามากับมือ ให้เป็นประธาน กลต. เรียกว่า เป็นบุคคลที่ท่านคัดแล้วคัดอีก"
นายธีระชัย ระบุว่า นายกรณ์ ยังเคยออกมาพูดผ่านสื่อ รับรองสรรพคุณของคุณนวพร เป็นพิเศษด้วย ซึ่งเขาก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า คุณนวพร เป็นผู้ที่เที่ยงธรรม และมีความรู้ความสามารถ และยังจะเป็นการไม่ให้เกียรติ ดร.ประสาร ไตรรัตนวรกุล ซึ่งเป็นบุคคลที่นายกรณ์ ได้เลือกเฟ้น และแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการแบงค์ชาติ ด้วยตัวเอง ซึ่ง ดร.ประสาร ก็เป็นหนึ่งในบอร์ด กลต. อีก
นอกจากนี้ ยังเป็นการไม่ให้เกียรติ คุณอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งก็เป็นผู้ที่ท่านคัดเลือกเองอีกเช่นกันและท่านก็เป็นหนึ่งในบอร์ด กลต. ด้วยเช่นกัน
นายธีระชัย กล่าวว่ายังมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอดีตปลัดกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย อดีตคณบดีคณะกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้ว่าการ สตง. ที่นั่งอยู่ใน บอร์ด กลต. อีกด้วย ที่พูดเช่นนี้ เนื่องจากเขาได้นำเรื่องเกี่ยวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งได้ผ่านการคัดกรอง 4 ขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นแล้ว นำเสนอต่อ บอร์ด กลต. ในการประชุมเมื่อวันที่ 21 ก.ต.54 โดยมีการชี้แจงให้ บอร์ด ทราบอย่างละเอียด ซึ่งผลการประชุมปรากฏว่า บอร์ด กลต. ได้รับทราบ โดยไม่มีผู้ใดเสนอแนะ ให้ดำเนินการใด ๆ ที่แตกต่างไปจากที่ได้ทำไว้แม้แต่ผู้เดียว
“จากข้อชี้แจงข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า บอร์ด กลต. ล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์สูงทั้งนั้น และ มีบุคคลผู้ได้รับการแต่งตั้ง จากนายกรณ์ ถึง 3 ท่าน แต่ก็ไม่มีผู้ใดที่ให้ความเห็นแตกต่างไปจากที่ผมดำเนินการไปเลย ผมจึงขอยืนยันว่า การดำเนินการเกี่ยวกับกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาเสมอ จึงขอชี้แจงให้ทราบโดยทั่วกันครับ"