น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์ในช่วงเย็นวันนี้ว่า กรณีข่าวเกี่ยวกับความช่วยเหลือต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะเรื่องการคืนพาสปอร์ต หรือขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกวีซ่าให้นั้น เชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณในการตัดสิน
"กรณีญี่ปุ่นให้วีซ่าพ.ต.ท.ทักษิณ เท่าที่ทราบมาเอกชนของเขาเรียนเชิญท่านอดีตนายกรัฐมนตรีไปบรรยายก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะเข้ามาเป็นรัฐบาล จากนั้นการให้อนุญาตทางการทูตเป็นเรื่องที่ไม่มีใครแทรกแซงได้ เป็นดุลยพินิจของญี่ปุ่นอยู่แล้ว"น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลจะทำหน้าที่เพื่อพี่น้องประชาชน เน้นส่วนรวม ไม่ใช้ทำเพื่อพี่ชายหรือเพื่อคนใดคนหนึ่ง การบริหารประเทศ ต้องคำนึงถึงทุกคน เรื่องคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเป็นไปตามกระบวนการและการพิจารณาของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนเองจะไม่เข้าไปแทรกแซง
สำหรับหน้าตาของคณะรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ถือว่าพอใจ 70% ส่วนอีก 30% ยอมรับว่า รมต.บางคนอาจจะเป็นหน้าใหม่ ยังไม่เป็นที่รู้จัก ยังไม่มีประสบการณ์ แต่เชื่อมั่นว่าจากคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว มีความรู้ความสามารถในงาน ความสามารถเฉพาะตัวในการบริหารจัดการ
ต่อข้อถามว่า กรณีที่คณะรัฐมนตรีไม่มีชื่อแกนนำเสื้อแดงเลยนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่ได้หมายความว่า คนเสื้อแดงไม่มีความรุ้ความสามารถ แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องดูในองคาพยพรวม เงื่อนไขคือความลงตัวเหมาะสม และอยากเห็นบรรยากาศปรองดอง ซึ่งบางครั้งการทำหน้าที่อาจไม่ต้องมาอยู่ในภาคบริหารเสมอไป แต่สามารถเข้าไปมีบทบาทในสภา หรือดูแลประชาชนในพื้นที่ได้ และแกนนำคนเสื้อแดงก็เข้าใจเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียอมรับว่าอาจมีการปรับคณะรัฐมนตรีในอนาคต เหมือนการเริ่มต้นธุรกิจที่ช่วงก่อตั้งต้องมีคนในแบบนึง แต่พออยู่ตัวแล้วก็ต้องมีคนอีกแบบหนึ่ง
"เรามองภาพรวมเป็นหลัก เหมือนการเริ่มต้นธุรกิจที่ช่วงก่อตั้งต้องมีคนในแบบนึง แต่พออยู่ตัวแล้วก็ต้องมีคนอีกแบบหนึ่ง" นายกรัฐมนตรี กล่าว
สำหรับนโยบายหาเสียงจะบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภา อาทิ นโยบายค่าแรง 300 บาท ในทางปฎิบัติต้องหารือกับคณะกรรมการไตรภาคี และต้องพิจารณาส่วนอื่นประกอบด้วย ทั้งในเรื่องแผนปฎิบัติงาน งบประมาณ เรื่องของระยะเวลา ข้อกฎหมาย อีกทั้งที่ผานมารัฐบาลชุดเดิมได้ประกาศยุบสภา ทำให้ใช้งบประมาณเก่าภายใต้กรอบเดิม การดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ต้องรอแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน ดังนั้น คาดว่าจะเริ่มใช้งบประมาณตามนโยบายของรัฐบาลได้ในราวเดือน ก.พ.55 ขณะที่บางนโยบายไม่จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณ เพียงแค่ดูแลบริหารจัดการให้ดี
นายกฯ คาดว่า การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลจะเห็นเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี
สำหรับนโยบายเร่งด่วน คือ นโยบายจัดการกับค่าครองชีพของประชาชน เช่น เรื่องของน้ำมัน เพราะถือเป็นต้นทุนของสินค้าหลายรายการ, สินค้าอุปโภคบริโภค ให้เป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ให้มีการกักตุน รวมถึงการดูแลค่าใช้จ่าย อาทิ การพักหนี้ ในส่วนของรายได้จะดูแลเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท เพื่อสร้างให้เกิดกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนราชการเชื่อว่าสามารถทำได้เลย ขณะที่ภาคเอกชนต้องขึ้นกับความพร้อมของแต่ละแห่ง
ส่วนกรณีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น มีแนวโน้มจะได้เห็นในปีภาษีหน้า คือ 1 ม.ค. 55
"ถ้าทำทั้งหมดแล้วเราจะต้องเร่งสร้างบรรยากาศในการลงทุนของต่างชาติ การเพิ่มกำลังซื้อ และเศรษฐกิจในประเทศให้ดีขึ้น" นายกรัฐมนตรี กล่าว