ณ จตุรัสกรีน สแควร์ ใจกลางกรุงทริโปลีในวันนี้คราคร่ำไปด้วยฝูงชนผู้ต่อต้านรัฐบาลลิเบีย ย้อนเวลากลับไปเพียง 2 วันก่อนหน้านี้ พวกเขาเพิ่งจะเปิดเกมถล่มเมืองหลวง ซึ่งถือเป็นการบดขยี้ครั้งสุดท้ายเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของพันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี
ที่ผ่านมา กัดดาฟีป่าวประกาศครั้งแล้วครั้งเล่าให้สมุนของเขายืนหยัดต่อสู้จนถึงวาระสุดท้าย แม้ว่าผู้นำจะตั้งรับอย่างห้าวหาญ แต่กองกำลังที่รวบรวมได้กลับมีเพียงหยิบมือ
ปราการด่านสุดท้ายของกัดดาฟีทลายครืนลงมาในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย กองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ที่มีกองกำลังนาโตคอยหนุนหลัง อยู่ในสถานการณ์ที่ได้เปรียบ พร้อมพกพาสภาพจิตใจที่ฮึกเหิมสุดๆ นับตั้งแต่กองกำลังฝ่ายต่อต้านตีแนวต้านที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้เป็นเวลานานหลายเดือนจนแตกและรุกคืบเข้าใกล้กรุงทริโปลีได้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ไม่เพียงเท่านี้ พวกเขายังตัดเสบียงอาหารและน้ำมัน ในเวลาเดียวกัน การโจมตีทางอากาศของนาโตยังทำลายกำลังทหารของฝ่ายสนับสนุนลงอย่างยับเยิน กองกำลังฝ่ายรัฐบาลลิเบีย แม้จะมียุทโธปกรณ์ครบมือและผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี แต่ก็ไม่สามารถตั้งแนวรับที่ทรงประสิทธิภาพได้
ข้อเท็จจริงที่เห็นได้ชัดคือ กองกำลังฝ่ายสนับสนุนกัดดาฟีในกรุงทริโปลีไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่คิดไว้ในตอนแรก เช่นเดียวกับความจงรักภักดีของประชาชนและทหารที่มีต่อชายผู้ปกครองประเทศมานานกว่า 4 ทศวรรษ
การโจมตีอย่างฉับไวของกลุ่มต่อต้านเป็นผลลัพธ์ที่สมเหตุสมผลเมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวมากมายทั้งในและนอกประเทศ พวกเขากุมความได้เปรียบมากขึ้นทุกขณะไม่ว่าจะเป็นในสนามรบหรือทางการทูต ตรงกันข้ามกับรัฐบาลลิเบียที่เผชิญความกดดันมากขึ้นทุกที
แม้ในขณะนี้จะยังไม่สามารถระบุได้ว่า กัดดาฟีอยู่ที่ไหนและจะลุกขึ้นมาตอบโต้อย่างไร แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ โอกาสงดงามที่จะคว้าชัยชนะนั้นตกเป็นของฝ่ายต่อต้าน
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ลิเบียกำลังก้าวเข้าสู่ยุคหลังการปกครองของกัดดาฟี ประเทศทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาแห่งนี้ยังจะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการที่คุกคามขณะพักฟื้น ทั้งความปวดร้าวทางการเมืองเอย วิกฤตการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจเอย
คำถามที่ตอบได้ยากที่สุดคือ ใครจะมาเติมเต็มช่องว่างแห่งอำนาจและนำพาประเทศที่บอบช้ำอย่างหนักก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูหลังภาวะสงคราม พร้อมกับจูงมือชาวลิเบียกว่า 6.4 ล้านคนให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
สัญญาณเท่าที่ปรากฎให้เห็นคือ สภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติของลิเบีย (NTC) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านกลุ่มแรกและมีฐานอยู่ในเมืองเบงกาซี ยังห่างไกลกับคำว่าเป็นปึกแผ่นเหลือเกิน การแข่งขันกันเองภายในทำให้การที่พวกเขาจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศเป็นที่น่ากังขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่การลอบสังหาร อัลบเดล ฟัตตาธ์ ยูนิส ผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลลิเบียเมื่อปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา
แม้ NTC รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปและแปลงโฉมลิเบียให้เป็นประเทศประชาธิปไตย แต่ก็มีบางเสียงที่แสดงความหวั่นใจว่า ลิเบียอาจจะกลายสภาพเป็นเหมือนโซมาเลีย
การขาดเสถียรภาพทางการเมืองและการฟื้นฟูสภาพอันสาหัสสากรรจ์ของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศทำให้ลิเบียมีแนวโน้มว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาอีกมากมาย ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนชาวลิเบียต้องทนทุกข์กันต่อไปอีกนาน หลังจากที่เผชิญหน้ากับสถานการณ์รุนแรงมาแล้ว 6 เดือน
ในช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูนี้ อนาคตของลิเบียยังคงต้องอยู่ในกำมือของอำนาจจากต่างแดนและองค์กรระหว่างประเทศทั้งหลาย บางประเทศถึงกับจับจองสิทธิ์เจรจากับฝ่ายต่อต้านชาวลิเบียไว้เรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางความหวาดกลัวที่ว่า ผู้ก่อการร้ายอาจจะเข้าไปแทรกซึมอยู่แล้วก็เป็นได้
บทวิเคราะห์โดยสำนักข่าวซินหัว