น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาวันนี้ ประกอบด้วย 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนในปีแรก 16 ข้อ และนโยบายที่ต้องดำเนินการในกรอบระยะเวลาบริหารราชการ 4 ปี รวม 7 ด้าน
สำหรับนโยบายเร่งด่วน 16 ข้อ ประกอบด้วย
1.การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติตามแนวทางของ คอป. เยียวยาและฟื้นฟูให้กับประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากความเห็นที่แตกต่างและความรุนแรงที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายของการใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540
2.การกำหนดให้การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติด เป็นวาระแห่งชาติ
3.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง ยึดหลักความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล และปรับปรุง แก้ไขกฏหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยมิชอบ
4.การส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและเร่งรัดขยายเขตพื้นที่ชลประทาน เร่งให้การบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพให้สามารถป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้
5.นำสันติสุขและความปลอดภัยในชิวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขจัดความยากจน ยาเสพติด และอิทธิพลอำนาจมืด และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบอย่างเป็นธรรม
6.เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ โดยเฉพาะเร่งแก้ไขปัญหากระทบกระทั่งตามแนวชายแดนฝ่านกระบวนการทางการฑูตบนพื้นฐานของสนธิสัญญาและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
7.แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมั้นเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภทชั่วคราวเพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงทันที และปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบมุ่งสู่การสะท้อนราคาต้นทุนพลังงาน
รวมถึงจัดให้มีบัตรเครดิตพลังงานสำหรับผู้ประกอบอาชีพรถรับจ้างขนส่งผู้โดยสารสาธารณะในวงเงินที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ต่อเดือนจริง และแก้ไขปัญหาค่าครองชีพโดยดูแลราคาสินค้าและการมีรายได้เพื่อเพิ่มกำลังซื้อสุทธิของประชาชนโดยป้องกันและแก้ไขการผูกขาดทั้งทางตรงและทางอ้อม
8.ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมหภาค ได้แก่ พักหนี้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างน้อย 3 ปี และปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีหนี้เกิน 5 แสนบาท, ดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท และผู้ที่จบระดับกรศึกษาปริญญาตรีมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท
จัดให้มีเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ โดยผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี จะได้รับ 600 บาท, อายุ 70-79 ปี จะได้รับ 700 บาท, อายุ 80-89 ปีจะได้รับ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท, ลดภาษีบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก
9.ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เหลือร้อยละ 23 ในปี 2555 และลดลงเหลือร้อยละ 20 ในปี 2556
10.ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน เช่น เพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท และงบกองทุนพัฒนาศักยภาพ SML อีก 3-5 แสนบาทตามลำดับขนาดของหมู่บ้าน
11.ยกระดับสินค้าการเกษตร นำระบบรับจำนำสินค้าเกษตรมาใช้ในการสร้างความมั่งคงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร เริ่มต้นจากการรับจำนำข้าวเปลือกและข้าวหอมมะลิ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ที่ราคาเกวียนละ 15,000 บาท และ 20,000 บาท เยียวยาความเสียหายแกพืชผลจากอุทกภัย
12.เร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศโดยประกาศให้ปี 2554-2556 เป็นปี "มหัศจรรย์ไทยแลนด์" และประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าร่วมเฉลิมฉลองในพระราชพิธีมหามงคลที่จะมีขึ้นในช่วงปี 2554-2555
13.สนับสนุนการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการสร้างเอกลักษณ์และการผลิตสินค้าในท้องถิ่น ด้วยการบริหารจัดการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ให้มีศักยภาพ
14.พัฒนาระบบประกันสุขภาพ เพิ่มประสิทธิภาพหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค ตลอดจนนำเทคโนโลยีต่อการบริการ ลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพ โภชนาการ ที่มีผลต่อการเจ็บป่วย ตลอดจนการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่
15.จัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน โดยเริ่มทดลองดำเนินการในโรงเรียนนำร่องสำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2555
16.เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อวางกลไกการใช้อำนาจอธิปไตยที่ยึดหลักนิติธรรม และองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนและพร้อมการตรวจสอบ ทั้งนี้ให้ประชาชนเห็นชอบผ่านการออกเสียงประชามติ