นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในฐานะว่าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้รัฐบาลทำตามสัญญาที่ได้ประกาศไว้กับประชาชนในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท, การบริหารราคาพลังงานให้มีความเหมาะสม, การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล, การแจกคอมพิวเตอร์แทปเล็ตให้กับเด็ก ป.1 ทั่วประเทศ เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ของนักการเมืองและสภาผู้แทนราษฎรให้กลับคืนมา เนื่องจากนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาและการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก่อนหน้านี้ยังมีความคลุมเครือ
ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท และกองทุนน้ำมัน อยู่ในความสนใจของประชาชนมากที่สุด ขอให้ดำเนินการเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด หรือ ทันที
"นักการเมืองตกเป็นจำเลยของสังคมตลอดเวลา ต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ของนักการเมืองในสายตาของพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนโดยส่วนใหญ่ไม่ดี สิ่งที่มักถูกสบประมาทอยู่เสมอคือ พวกเราพูดอะไรก็ได้เพื่อหาคะแนนเสียง แต่เวลาจะลงมือเพื่อแก้ไขปัญหาจริงนั้นมักไม่ทำตามคำมั่นสัญญา" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลควรยึดถือมี 4 ประการ คือ 1.รัฐบาลจำเป็นต้องทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน 2.รัฐบาลจำเป็นต้องสานต่อการแก้ปัญหาของบ้านเมือง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้าง เพื่อให้การแก้ปัญหามีความคืบหน้า 3.รัฐบาลต้องมุ่งทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่มีผลประโยชน์อื่นใดมาแอบแฝง ขจัดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และ 4.รัฐบาลต้องปกป้องสถาบันหลักของชาติ ซึ่งเป็นอนาคตของสังคมและประเทศชาติ
"รัฐบาลเป็นผู้ไปสร้างความคาดหวัง สร้างโจทย์ให้กับประเทศในเรื่องการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความเป็นอยู่ด้านเศรษฐกิจ ในเรื่องของปากท้อง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันเลือกตั้งเป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ประชาชนมีความหวั่นไหวว่าคำสัญญาที่ให้ไว้จะทำจริงหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้จากดัชนีความสุขลดลง เพราะนโยบายที่ได้ประกาศตอนหาเสียงมีความชัดเจนมาก แต่หลังเลือกตั้งกลายเป็นความคลุมเครือ
"วันนี้รัฐบาลต้องแถลงให้ชัดต่อประชาชน ทำความชัดเจนเพื่อการบริหารงานของท่านเอง และทำความชัดเจนเพื่อให้พี่น้องประชาชนไม่หวั่นไหว ไม่เช่นนั้นการสลายทุกข์ หรือสร้างความสุขเกิดขึ้นไม่ได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า อยากเห็นการสานต่ออีกหลายโครงการ อาทิ โครงการประกันรายได้เกษตรกร ที่ดำเนินการตามข้อเสนอจากหน่วยงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพราะโครงการรับจำนำข้าว จะทำให้เป็นเรื่องบิดเบือนกลไกตลาด การทุจริต การละเมิดข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ เร่งการผลิตข้าวคุณภาพต่ำ และบั่นทอนการแข่งขันส่งออกข้าวไปต่างประเทศ
"ถ้าทบทวนได้ อยากให้ทบทวน ถ้าทบทวนไม่ได้ ก็ต้องตอบให้ได้ว่าจะแก้ไขกันอย่างไร" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง ที่อยากให้รัฐบาลสานต่อด้วย
"อย่าไปเกี่ยงเลยครับว่าเป็นโครงการที่ไม่ได้เริ่มในรัฐบาลท่านก็เลยต้องเอาไว้ทีหลัง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ว่าที่ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า อยากติงรัฐบาลที่นำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะความจริงแล้วทุกคนในรัฐสภาก็ใช้รัฐธรรมนูญปี 50 ทั้งนั้น มีเพียงเหตุผลเดียวที่คนมองว่าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญปี 50 คือหวังผลเรื่องการนิรโทษกรรม ซึ่งจะทำให้สังคมมีความขัดแย้ง และจะก่อให้เกิดวิกฤติทางการเมืองรอบใหม่
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนเองเป็นห่วงคือ เรื่องวินัยการเงินการคลัง เนื่องจากการดำเนินนโยบายต่างๆ ต้องใช้เงินจำนวนมาก และไม่อยากให้กรอบเรื่องการเงินการคลังที่รัฐบาลเดิมทำไว้กลายเป็นสิ่งสูญเปล่า ดังนั้นขอให้รับบาลดำเนินการทุกอย่างเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง แม้จะไม่ประสบความสำเร็จครบ 100% หากดำเนินการด้วยความตั้งใจและจริงใจก็เชื่อว่าสังคมจะให้โอกาส แต่หากมีการนำความไว้วางใจไปใช้ในทางที่ผิดสังคมนี้ก็ต้องการความเป็นธรรม และความถูกต้อง