"กรณ์"คาดรัฐบาลใช้งบปี 55 เพิ่มขึ้น 3.3 แสนลบ.ดำเนินนโยบายประชานิยม

ข่าวการเมือง Wednesday August 24, 2011 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีต รมว.คลัง วิเคราะห์ผลกระทบทางงบประมาณจากนโยบายรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คาดว่าต้องใช้เงินโดยตรงจากงบประมาณปี 55 เพิ่มขึ้นถึง 3.3 แสนล้านบาท ในขณะที่รายได้คาดว่าจะลดลง 1.3 แสนล้านบาท โดยการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอาจใช้เงินเกินกรอบการขาดดุลงบประมาณตามกฎหมาย หมายถึงจะต้องขึ้นภาษีอื่นๆเพื่อเพิ่มรายได้ หรือลดรายจ่ายที่จำเป็น

กรอบงบประมาณประจำปี 55 เดิมที่วางไว้ ประมาณการรายได้รัฐบาล 1.9 ล้านล้านบาท รายจ่าย 2.25 ล้านล้านบาท ขาดดุล 350,000 ล้านบาท มีกรอบการกู้เงินภายใต้ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ อยู่ที่ 486,973 ล้านบาท ขณะที่ประมาณการใหม่ตามนโยบายของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ คาดว่าประมาณการรายได้อยู่ที่ 1.7665 ล้านล้านบาท รายจ่ายอยู่ที่ 2.58 ล้านล้านบาท ขาดดุล 814,110 ล้านบาท โดยจะมีการกู้เงินใหม่อยู่ที 553,095 ล้านบาท เกินกรอบการกู้เงินถึง 261,015 ล้านบาท

ปีแรกผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลต้องใช้เงินงบประมาณ จำนวน 330,610 ล้านบาท ใช้เงินนอกงบประมาณ 577,166 ล้านบาท และรายได้ภาษีลดลง 133,500 ล้านบาท ประกอบด้วย นโยบายเยียวยาผลจากการชุมนุมทางการเมือง ใช้งบประมาณ 910 ล้านบาท นโยบายชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันอาจใช้เงินนอกงบประมาณ 54,000 ล้านบาท โดยที่กองทุนจะต้องใช้เงิน 4,500 ล้านบาท/เดือนเพื่อตรึงส่วนต่างราคาน้ำมันเดิม นโยบายพักหนี้ครัวเรือนเกษตรกรใช้เงินนอกงบประมาณผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 32,000 ล้านบาท นโยบายรายได้ขั้นต่ำ 300 บาทและปริญญาตรี 15,000 บาทของข้าราชการและลูกจ้าง ใช้เงินงบประมาณ 45,000 ล้านบาท นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอาขุ ใช้งบประมาณ 15,000 ล้านบาท

นโยบายยกเว้นภาษีบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก ทำให้รายได้ภาษีหายไป 21,000 ล้านบาท ซึ่งคำนวณจากราคารถ 1 ล้านบาท มีภาษีคันละ 300,000 บาท คาดว่ารถใหม่เป็นรถคันแรกมีจำนวน 70,000 คัน/ปี ส่วนภาษีบ้านหลังแรกประมาณ 3,000 ล้านบาท นโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 23% ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ 112,500 บาท เพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านอีก 1 ล้านบาท ใช้เงินงบประมาณ 80,000 ล้านบาท นโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดละ 100 ล้านบาทใช้เงินงบประมาณ 7,600 ล้านบาท กองทุนตั้งตัวได้จาก 169 มหาวิทยาลัยใช้เงินงบประมาณ 169,000 ล้านบาท

นโยบายเพิ่มเงินกองทุน SML ใช้เงินงบประมาณ 3,200 ล้านบาท โครงการรับจำนำข้าว ใช้เงินนอกงบประมาณผ่าน ธ.ก.ส. 472,500 ล้านบาท โครงการแจกแท็บเล็ต (ทดลองนำร่องโรงเรียนเฉพาะ ป.1) ใช้เงินงบประมาณ 4,000 ล้านบาท บัตรเครดิตเกษตรกร ผ่าน ธ.ก.ส. ใช้เงินนอกงบประมาณ 18,666 ล้านบาท เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า 1 สายในกทม.และ 20 บาทตลอดสายใช้เงินงบประมาณ 900 ล้านบาท และโครงการ Free Wifi ใช้เงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ