ส.ส.ปชป.เข้าชื่อยื่นถอดถอน"สุรพงษ์"พ้นเก้าอี้บัวแก้วให้ประธานวุฒิสภา

ข่าวการเมือง Thursday August 25, 2011 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นำบัญชีรายชื่อ 130 ส.ส.พร้อมคำร้องยื่นต่อ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เพื่อให้พิจารณาถอดถอนนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติกรรมใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง

กรณีใช้อำนาจในฐานะ รมว.ต่างประเทศ ร้องขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ โดยที่รัฐบาลยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งถือว่าขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ที่ระบุว่า คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อน และมาตรา 176 วรรคสอง ที่ระบุ ข้อยกเว้นให้รัฐมนตรีสามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ก่อนการแถลงนโยบายรัฐบาลหากเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน และหากปล่อยให้เนิ่นนานอาจกระทบประโยชน์ของประเทศ

ในคำร้องยังระบุด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ถือเป็นผู้ต้องขังตามหมายจับของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 100(1) วรรคสาม และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ซึ่งศาลลงโทษจำคุก 2 ปี และเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาในคดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ดังนั้นเพื่อให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องติดตามจับกุมตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มารับโทษ

"กรณีที่รัฐบาลไทยร้องขอรัฐบาลญี่ปุ่นให้ออกวีซ่าให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นถือว่าเปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถเดินทางไปได้ทั่วโลก และยากต่อการติดตามจับกุมตัว และเสมือนช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หลบหนี โดยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 189 และมาตรา 192 ถือว่าการกระทำของนายสุรพงษ์นั้นละเมิดต่อกฎหมายและขัดต่อกฎหมายอย่างชัดแจ้ง" นายวิรัตน์ กล่าว

นายวิรัตน์ กล่าวว่า จากที่ได้ติดตามฟังนโยบายของรัฐบาลว่าจะมีการยกเลิกติดตามตัวคนร้ายมาลงโทษหรือไม่ แต่ไม่พบว่ามีบรรจุไว้ในนโยบาย ถือว่าเป็นการแถลงเท็จต่อรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย ดังนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ประมาณ 130 คนจึงได้ร่วมลงชื่อยื่นหนังสือถอดถอนต่อประธานวุฒิสภา เพื่อชี้ให้ประชาชนเห็นว่าผู้ที่มีอำนาจซึ่งไม่อยู่ในระเบียบหรือรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายได้ทำให้บ้านเมืองเสียหาย และเป็นการเตือนสติว่านักการเมืองอย่าเหลิง อย่าทำอะไรผิดกฎหมาย หรือผิดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนระยะเวลาตรวจสอบหรือไต่สวนจะนานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ ป.ป.ช.

ด้าน พล.อ.ธีรเดช กล่าวว่า ทางวุฒิสภาจะใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ ส.ส.เป็นเวลา 30 วันเบื้องต้นคาดว่าไม่มีปัญหา เพราะทางสภาผู้แทนราษฎรได้มีข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งหากตรวจสอบแล้วไม่พบปัญหาก็จะส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.ให้ดำเนินไต่สวนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ