Analysis: สื่อชี้การเมืองญี่ปุ่นยังไร้เสถียรภาพแม้"นาโอโตะ คัง"ลาออก

ข่าวต่างประเทศ Friday August 26, 2011 14:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในที่สุดนายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันนี้ หลังจากที่มีการงัดข้อกันมาเป็นเวลาหลายเดือนระหว่างส.ส.-ส.ว.จากพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน และแม้แต่ภายในพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (ดีพีเจ) ของนายคังเอง แต่ถึงกระนั้น การลาออกจากตำแหน่งของนายคังก็ไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถยุติวงจรการขึ้นทำหน้าที่นายกฯญี่ปุ่นในเวลาเพียงแค่ 1 ปีเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับนายกฯคนก่อนๆได้

ไม่ว่าใครก็ตามที่จะขึ้นมาทำหน้าที่ผู้นำคนใหม่ของญี่ปุ่น ก็จะต้องเผชิญกับความเป็นจริงที่ยากจะยอมรับว่ายังคงมีการแบ่งแยกกันในรัฐสภา เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านจะครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา หรือสภาสูงไปจนถึง 2556 ซึ่งจะทำให้ฝ่ายค้านสามารถโหวตขวางกฎหมายที่ทางรัฐบาลเสนอมาได้

ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกตั้งครั้งใหญ่ 2 ครั้งที่จะมีขึ้น ได้แก่ การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคดีพีเจซึ่งปกติจะจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี และมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนก.ย.ปีหน้า และการเลือกตั้งทั่วไปที่จะจัดขึ้นประมาณ 1 ปีหลังจากนั้น หากสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่างได้ทำหน้าที่ครบวาระ 4 ปีแล้วนั้น อาจจะทำให้วาระการทำหน้าที่ของนายกฯคนใหม่สั้นลง

การปรับปรุงความสัมพันธ์กับพรรคฝ่ายค้านหลัก 2 พรรค ถูกมองว่าเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของรัฐบาลชุดใหม่ แต่ก่อนที่สิ่งนั้นจะเกิดขึ้น ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรคดีพีเจในวันจันทร์หน้า ซึ่งจะกลายเป็นนายกฯคนใหม่ของญี่ปุ่นด้วยนั้น จะต้องยุติศึกภายในพรรคดีพีเจที่ดำเนินมาเป็นเวลานานให้ได้เสียก่อน

อย่างไรก็ตาม ภารกิจดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย โดยนับตั้งแต่ที่พรรคดีพีเจคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลายในศึกเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2552 และยุติตำนานกว่า 50 ปีของพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ในการทำหน้าที่รัฐบาลบริหารประเทศ ความเป็นปึกแผ่นภายในพรรคดีพีเจก็สิ้นสุดลงตามไปด้วย เพราะสมาชิกของพรรคมีทั้งกลุ่มที่มีแนวคิดเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมซึ่งนับว่าคนละขั้ว

ความเป็นปึกแผ่นภายในพรรคดีพีเจย่ำแย่ลงไปอีก หลังจากที่พรรคพ่ายศึกเลือกตั้งสมาชิกสภาสูงเมื่อเดือนก.ค. 2553 หรือหลังจากที่นายคังเพิ่งขึ้นทำหน้าที่นายกฯเพียงหนึ่งเดือน ส่งผลให้เกิดความแบ่งแยกในรัฐสภาดังเช่นในปัจจุบัน โดยสาเหตุหลักมาจากการแสดงความคิดเห็นของนายคังเรื่องความเป็นไปได้ที่จะขึ้นภาษีการบริโภค ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหวทางการเมือง

ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับสิ่งที่นาโอโตะ คัง เรียกว่าเป็นวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดในช่วงหลังสงครามโลก หลังจากที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่า ไดอิจิ

แต่แรงกดดันให้นายคังลาออกจากตำแหน่งก็ยังไม่หมดไป อีกทั้งยังถือเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนักในประวัติศาสตร์การเมืองของญี่ปุ่น เมื่อนายคังถูกต้อนเข้ามุมจากส.ส.ภายในพรรค แทนที่จะเป็นการกดดันจากพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคแอลดีพีหรือพรรคนิว โคไมโตะ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านรายใหญ่อันดับ 2

โดยภายในพรรคดีพีเจเองมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่มากในประเด็นที่ว่า พรรคควรจะดำเนินนโยบายที่เคยให้คำมั่นไว้ในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2552 หรือไม่ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มส.ส.ที่ใกล้ชิดกับนายคัง และส.ส.ในกลุ่มของนายอิจิโร่ โอซาว่า ซึ่งเป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคดีพีเจ

นายโอซาว่า ซึ่งมีส่วนผลักดันให้พรรคดีพีเจสามารถก้าวขึ้นเป็นรัฐบาลได้นั้น ได้ออกมาวิจารณ์นาโอโตะ คัง และพรรคพวกอยู่โดยตลอด ในเรื่องที่เกี่ยวกับการตัดสินใจด้านนโยบายโดยปราศจากแนวทางการดำเนินการแบบราชการ การลดค่าใช้จ่ายที่ถูกใช้ไปอย่างไม่เหมาะสม และกระจายเงินสดให้ถึงมือประชาชน

ทั้งนี้ คาดว่าการทบทวนคำมั่นสัญญาของพรรคดีพีเจ และวิธีการจัดสรรกองทุนขณะที่งบประมาณสำหรับฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากภัยพิบัติเมื่อเดือนมี.ค.มีอยู่อย่างจำกัดนั้น จะเป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคดีพีเจในวันจันทร์หน้านี้

พรรคฝ่ายค้านมองว่า คำมั่นสัญญาของพรรคดีพีเจ เช่น การให้งบสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรรายเดือน การยกเลิกค่าทางด่วนและค่าเล่าเรียนสำหรับชั้นมัธยมศึกษา เป็นเรื่องที่สิ้นเปลือง

จนกระทั่งเดือนสิงหาคม ในที่สุด พรรคดีพีเจก็ได้รับความร่วมมือจากพรรคแอลดีพีและนิว โคไมโตะ ในการผ่านกฎหมายงบประมาณและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งการผ่านกฎหมายดังกล่าวถือเป็นเงื่อนไขในการลาออกจากตำแหน่งของนายคัง โดยมีการตกลงกันว่า จะมีการทบทวนนโยบายจัดสรรประโยชน์ให้กับเด็กนักเรียนมัธยมหรือเด็กที่อายุต่ำกว่านั้นโดยไม่พิจารณาเรื่องรายได้ของครอบครัว

แต่หากหัวหน้าพรรคดีพีเจคนใหม่พยายามที่จะทำตามคำมั่นสัญญาและกระชับสัมพันธ์ระหว่างส.ส.-ส.ว.ของพรรค ก็คาดว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้เกิดสถานการณ์ที่ตึงเครียดกับทางพรรคฝ่ายค้านมากยิ่งขึ้น

นายซาดาคาซุ ทานิกาคิ หัวหน้าพรรคแอลดีพีเคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาจะร่วมมือกับรัฐบาลในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบเหตุภัยพิบัติทางตะวันออกเฉียงเหนือ และทางพรรคก็พร้อมที่จะรวมมือไปจนกว่ารัฐสภาจะอนุมัติงบประมาณพิเศษชุดที่ 3 สำหรับปีงบประมาณ 2554 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนกระบวนการฟื้นฟูพื้นที่ได้อย่างเต็มที่

เมื่อมีการรับรองงบพิเศษดังกล่าว ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเดือนต.ค. นายทานิกาคิกล่าวว่า พรรคแอลดีพีอาจจะกดดันรัฐบาลชุดใหม่ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่

ในประวัติศาสตร์ช่วงหลังสงครามของญี่ปุ่นที่ผ่านมานั้น การเลือกตั้งส.ส.หลังจากที่ทำหน้าที่ครบวาระ 4 ปี เคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือเมื่อปี 2519

นักวิเคราะห์บางรายมองว่า การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้งของญี่ปุ่น เป็นเพราะมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในทุกๆ 2 ปีนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 และก็น้อยครั้งที่การเลือกส.ส.และส.ว.จะเกิดขึ้นในปีเดียวกัน

นายเคนสุเกะ ทาคายาสุ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเซเค ซึ่งเคยคาดการณ์ว่า รัฐบาลยุคหลังนายคังจะอยู่ไม่นานนั้น กล่าวว่า ญี่ปุ่นควรจะตั้งกฎเกณฑ์และกติกาทางการเมืองขึ้นมาใหม่ และเหนืออื่นใดก็คือ การลาออกของนายคังพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเมืองของประเทศไม่เป็นระบบ และสถานภาพของนายกฯก็เปราะบางมาก

"นับเป็นปัญหาที่ว่าไม่ว่าใครก็ตามที่ถูกเลือกเข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าพรรคผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายจะต้องสูญเสียเสียงสนับสนุนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเรื่องนี้ควรจะได้รับการแก้ไข" นายทาคายาสุกล่าว

ศาสตราจารย์กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องนี้ควรจะมีการกล่าวโทษไปที่ส.ส.-ส.ว.ทุกคนของพรรครัฐบาลที่มีหน้าที่เลือกหัวหน้าพรรคที่ดีในนามของผู้มีสิทธิเลือกตั้งภายใต้ระบบคณะรัฐมนตรีแบบรัฐสภา การเปลี่ยนแปลงตัวนายกฯอย่างรวดเร็วของญี่ปุ่น เป็นเพียงการบ่งชี้ให้เห็นถึงการไร้ซึ่งความสามารถในการตัดสินใจที่เด็ดขาด

บทวิเคราะห์โดย ทาคูยะ คารุเบะ สำนักข่าวเกียวโด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ