นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง การอภิปรายนโยบายของรัฐบาล กับความนิยมของสาธารณชนต่อพรรคเพื่อไทยกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ติดตามข่าวสารการอภิปรายนโยบายของรัฐบาลใน ใน 17 จังหวัดของประเทศ ระหว่างวันที่ 24 - 27 สิงหาคม 2554 จำนวนทั้งสิ้น 2,193 ตัวอย่าง พบว่าความนิยมของสาธารณชนต่อรัฐบาลยังคงเหมือนเดิม และถ้าเลือกตั้งใหม่วันนี้ ประชาชนจะยังคงเลือกพรรคเพื่อไทยมากที่สุด แสดงว่าการอภิปรายแถลงนโยบายของรัฐบาลไม่ได้ทำให้รัฐบาลสูญเสียความนิยมไปและประชาชนจำนวนมากยังอยากให้โอกาสรัฐบาลทำงานจนครบวาระ ซึ่งข้อมูลสำรวจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นได้ว่า รัฐบาลกำลังได้โอกาสตามที่อยากจะได้จากสาธารณชน
ดังนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีน่าจะใช้โอกาสนี้จัดระเบียบบ้านของประเทศครั้งใหญ่ ระดมทรัพยากรของประเทศมาอยู่ในช่องทางที่สะดวกใช้แก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนได้ทันที และหลังการช่วยเหลือต้องทำให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียังจำเป็นต้องชำระล้าง “แก้ไข" ความไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมทางสังคมในอดีตให้ทั่วถึงประชาชนทุกหมู่เหล่า ฟื้นฟูขวัญกำลังใจของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐโดยใช้ระบบคุณธรรมนำหลักการบริหาร และอาจจำเป็นต้องใช้ “โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ" ในการชี้แจงต่อสาธารณชนทั้งก่อนและหลังการแก้ไขสิ่งต่างๆ เพื่อลดทอนแรงเสียดทานในสังคม เหมือนที่อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องใช้บ่อยๆ ในช่วงไฟแห่งความขัดแย้งลุกโชน และสถานการณ์ในเวลานี้ไฟแห่งความขัดแย้งรุนแรงยังคุกรุ่นอยู่ และถ้าการชี้แจงทุกอย่างมีเหตุมีผล ก็น่าเชื่อได้ว่าสาธารณชนจะรับฟังและยอมรับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีและคณะได้.
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีน่าจะปฏิรูประบบการรับเรื่องราวร้องทุกข์โดยไม่ต้องรอให้ชาวบ้านเดินทางมาหาที่ทำเนียบในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกรได้ถือครองกรรมสิทธิ์ของตนเองอย่างแท้จริง และปัญหาการเลือกปฏิบัติ “ที่สำคัญในการรักษาความนิยมให้ยาวนาน รัฐบาลน่าจะมุ่งเน้นความโปร่งใส ลบล้างอคติของประชาชนจำนวนมากต่อรัฐบาล โดยแจกแจงรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐให้สาธารณชนรับทราบอย่างกว้างขวางผ่านสื่อมวลชน หรือเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมตรวจสอบแกะรอยเส้นทางการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลจากส่วนกลางถึงระดับท้องถิ่น และหากนายกรัฐมนตรีเดินทางเข้าถึงประชาชนที่เดือดร้อนในพื้นที่ถิ่นทุรกันดารที่ยากลำบาก เช่น พื้นที่ภัยพิบัติ ทั้งที่เป็นฐานเสียงเลือกรัฐบาลและไม่เลือกรัฐบาล เพื่อบรรเทาเยียวยาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของสังคมไทยจะได้ใจและแรงศรัทธาจากคนทั้งประเทศไม่ยากนัก" ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว
สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.3 ของผู้ที่ติดตามข่าวสารการอภิปรายนโยบายรัฐบาล รู้สึกบรรยากาศเหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในขณะที่ร้อยละ 38.7 ไม่รู้สึกเช่นนั้น นอกจากนี้ หลังการอภิปรายนโยบายรัฐบาล พบว่า ร้อยละ 37.0 มีความหวังลดลงในเรื่องความปรองดองของคนในชาติ ในขณะที่ร้อยละ 33.1 ยังหวังเหมือนเดิม และร้อยละ 29.9 มีความหวังเพิ่มขึ้น
เมื่อถามถึงคณะบุคคลหรือหน่วยงานที่จะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ในสถานการณ์ความขัดแย้งของคนในชาติ พบว่า ร้อยละ 34.5 ระบุเป็นสื่อมวลชน รองลงมาคือร้อยละ 33.3 ระบุเป็นทหาร ร้อยละ 31.9 ระบุเป็นนักการเมือง ร้อยละ 29.6 ระบุเป็นคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ร้อยละ 18.4 ระบุเป็นตำรวจ และร้อยละ 17.2 ระบุเป็นศาลต่างๆ
ที่น่าพิจารณาคือ ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิ่งที่รัฐบาลเคยหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.4 ถือว่าสิ่งที่เคยหาเสียงเป็นการให้สัญญากับประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 27.6 ไม่ถือว่าเป็นการให้สัญญา300 บาทนโยบายยังไม่ชัดเจน
โดยประเด็นสำคัญของนโยบายที่ถกเถียงกันมา เรื่องอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ผลสำรวจพบว่า เกินครึ่งหรือ ร้อยละ 54.8 ระบุยังไม่ชัดเจนในนโยบายของรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 56.7 ระบุยังไม่ชัดเจนเช่นกันในเรื่องการให้เงินเดือน 15,000 บาทสำหรับผู้จบปริญญาตรี
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.1 คิดว่าคำว่า “รายได้" กับ “เงินเดือน" แตกต่างกัน แต่ร้อยละ 30.9 คิดว่าเหมือนกัน อย่างไรก็ตามประชาชนที่นิยมศรัทธาต่อพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ยังคงจะเลือกพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิมโดยไม่ถือเอาเรื่องนโยบายเป็นเรื่องกระทบต่อความนิยมของประชาชนต่อรัฐบาล
โดยคะแนนเฉลี่ยของการประเมินความพึงพอใจต่อการอภิปรายนโยบายของรัฐบาล พบว่า เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน รัฐบาลได้ 6.02 คะแนน รองลงมาคือ ผู้ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ 5.87 คะแนน สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ได้ 5.59 คะแนน และฝ่ายค้านได้ 5.56 คะแนน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.4 ยังรู้สึกเห็นใจ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา ในขณะที่ร้อยละ 31.6 ไม่เห็นใจ
เมื่อถามถึงระยะเวลาที่อยากให้โอกาสรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในการทำงาน พบว่า ร้อยละ 74.5 ให้โอกาสเกินกว่า 1 ปีขึ้นไป โดยร้อยละ 41.8 ให้โอกาสอยู่จนครบวาระ ร้อยละ 12.2 ให้อยู่ 2 — 3 ปี ร้อยละ 20.5 ให้อยู่ 1 — 2 ปี ร้อยละ 16.6 ให้อยู่ 6 เดือน — 1 ปี และร้อยละ 8.9 ให้อยู่ไม่เกิน 6 เดือน
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถามว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 44.3 ยังคงจะเลือกพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ร้อยละ 23.9 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 12.0 เลือกพรรคการเมืองอื่นๆ และร้อยละ 19.8 ยังไม่ตัดสินใจ