"สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ถึงกรณีดังกล่าว ถึงความมั่นใจรัฐบาลหลังแถลงนโยบาย ดังต่อไปนี้
นโยบายการเพิ่มค่าจ้างให้แก่แรงงาน 300 บาทต่อวันทันที อันดับ 1 ร้อยละ 42.14% ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะ มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยตรง, อาจส่งผลต่อแรงงานไทย หันไปใช้แรงงานต่างด้าวแทน ฯลฯ
อันดับ 2 ร้อยละ 22.26% ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ เพราะ รัฐบาลคงไม่ต้องการที่จะเสียคำพูดหรือสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน, เป็นจำนวนเงินที่เหมาะสมแล้ว ฯลฯ
อันดับ 3 ร้อยละ 19.28% ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย เพราะ มีหลายฝ่ายคัดค้าน ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ฯลฯ
อันดับ 4 ร้อยละ 16.32% ระบุว่า มั่นใจมาก เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานต่างเฝ้ารอการปรับขึ้นค่าแรง ,เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้สัญญาไว้ ฯลฯ
นโยบายการเพิ่มเงินเดือนให้กับผู้สำเร็จปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน อันดับ 1 ร้อยละ 44.38% ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะ เป็นการเพิ่มภาระให้กับหน่วยงานหรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง, เศรษฐกิจในปัจจุบันต้องการลดต้นทุน หรือลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ฯลฯ
อันดับ 2 ร้อยละ 21.89% ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย เพราะ ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเงินเดือนและทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น, ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่จบการศึกษา ในระดับอื่นๆ และคนที่ทำงานมาก่อน ฯลฯ
อันดับ 3 ร้อยละ 19.23% ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ เพราะ หากรัฐบาลให้การสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างเพียงพอ, เป็นการเรียกคะแนนนิยมให้รัฐบาล ฯลฯ
อันดับ 4 ร้อยละ 14.50% ระบุว่า มั่นใจมาก เพราะ เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ, มีบางหน่วยงานที่นำร่องไปแล้ว ฯลฯ
นโยบายการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้น ป.1 ทุกคน อันดับ 1 ร้อยละ 38.21% ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะ สิ้นเปลืองงบประมาณและค่าใช้จ่าย, อาจเกิดปัญหาเรื่องการดูแลรักษาหรือการใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ ฯลฯ
อันดับ 2 ร้อยละ 34.33% ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย เพราะ ควรศึกษาผลดี ผลเสียอย่างละเอียด,ไม่สามารถดูแลการใช้งานได้ทั่วถึง ฯลฯ
อันดับ 3 ร้อยละ 17.31% ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ เพราะ ที่ผ่านมามีสถานศึกษาหลายแห่งแจกคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊คให้กับเด็ก เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ฯลฯ
อันดับ 4 ร้อยละ 10.15% ระบุว่า มั่นใจมาก เพราะ เป็นการส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กสนใจการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เป็นนโยบายที่ดี ฯลฯ
ด้านนโยบายการแก้ปัญหาสินค้าแพง อันดับ 1 ร้อยละ 37.28% ระบุว่าไม่ค่อยมั่นใจ เพราะ ราคาสินค้าจะต้องเป็นไปตามกลไกของเศรษฐกิจ, ควบคุมยากเนื่องจากมีสินค้าหลายประเภท ฯลฯ
อันดับ 2 ร้อยละ 30.27% ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย เพราะ การประกาศนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท และปริญญาตรี 15,000 บาท ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าให้สูงขึ้น ฯลฯ
อันดับ 3 ร้อยละ 19.69% ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ เพราะ เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ควรแก้ไข ประชาชนต่างฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดนี้ ฯลฯ
อันดับ 4 ร้อยละ 12.76% ระบุว่า มั่นใจมาก เพราะ เป็นการช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน รัฐบาลสามารถควบคุมราคาสินค้าให้เกิดความเป็นธรรมได้ ฯลฯ
ด้านความพอใจต่อ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ คนที่ 1 ดูแลด้านการปกครอง, การต่างประเทศ, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงมหาดไทย, สำนักนายกฯ, สำนักงาน ก.พ.ร., สำนักงานพุทธศาสนา, สำนักงาน ก.พ. และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต. )
ร้อยละ 30.63% ระบุว่า ถูกใจ เพราะ มีประสบการณ์ทางการเมืองมานาน มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ ที่เหมาะสม มีบุคลิกภาพที่ดี เป็นที่เคารพ นับถือของคนทั่วไป ฯลฯ ขณะที่ 27.03% ระบุว่า ไม่ถูกใจ เพราะ คิดว่าตำแหน่งที่ได้รับยังไม่เหมาะสม น่าจะมีบุคคลอื่นที่เหมาะสมมากกว่านี้ ฯลฯ ส่วน 42.34% ระบุว่า เฉยๆ เพราะ ยังไม่เคยเห็นผลงานมาก่อน ต้องรอดูสักระยะ ,เป็นเรื่องปกติที่มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ฯลฯ
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ คนที่ 2 ดูแลด้านกระทรวงยุติธรรม, กระทรวงแรงงาน, สำนักงานกฤษฎีกา, กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร้อยละ 28.83% ระบุว่า ถูกใจ เพราะ เป็นคนเอาจริงเอาจัง กล้าลุย กล้าชน ในฐานะที่เป็นตำรวจมาก่อนน่าจะเข้าใจวัฒนธรรมในองค์กรได้ดี ฯลฯ ร้อยละ 22.52% ระบุว่า ไม่ถูกใจ เพราะ เป็นคนใจร้อน โผงผาง ขาดการควบคุมอารมณ์ ฯลฯ ขณะที่ ร้อยละ 48.65% ระบุว่า เฉยๆ เพราะ ควรให้โอกาสในการพิสูจน์ผลงาน ไม่ว่าใครจะเข้ามาดูแลก็ขอให้จริงจังและตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ฯลฯ
พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกฯ คนที่ 3 ดูแลด้านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.), ราชบัณฑิตยสถาน, สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.), สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นยังมีหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคง อาทิ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร้อยละ 27.82% ระบุว่า ถูกใจ เพราะ มีประวัติการทำงานดี มีผลงานเป็นที่ยอมรับ น่าจะดูแลรับผิดชอบหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การควบคุมได้ ฯลฯ ส่วน ร้อยละ 26.11% ระบุว่า ไม่ถูกใจ เพราะ คิดว่าน่าจะมีคนอื่นที่เหมาะสมกว่านี้ ได้รับตำแหน่งเพราะมีความใกล้ชิดกับคนภายในพรรค ฯลฯ ร้อยละ 46.07% ระบุว่า เฉยๆ เพราะ ต้องรอดูผลงานสักระยะ หน่วยงานที่ควบคุม ดูแลมีมาก ล้วนเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญ ฯลฯ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ คนที่ 4 ดูแลด้านเศรษฐกิจ อาทิ กระทรวงการคลัง, พลังงาน, พาณิชย์, อุตสาหกรรม, สำนักงบประมาณ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ร้อยละ 26.59% ระบุว่า ถูกใจ เพราะ ประวัติการศึกษาและประวัติการทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจ พาณิชย์มาโดยตลอด ฯลฯ ร้อยละ 23.87% ระบุว่า ไม่ถูกใจ เพราะ ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ไม่รู้ว่ามีผลงานเด่นอะไรบ้าง ,อยากให้คนอื่นเข้ามาดูแลมากกว่า ฯลฯ ขณะที่ ร้อยละ 49.54% ระบุว่า เฉยๆ เพราะ ไม่ว่าใครจะเข้ามาทำงานก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ แก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจให้ได้ ฯลฯ
นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกฯ คนที่ 5 ดูแลด้านการท่องเที่ยวและการเกษตร, สำนักงานจัดประชุมนิทรรศการ และองค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร้อยละ 28.53% ระบุว่า ถูกใจ เพราะ มีผลงานเป็นที่ยอมรับ เคยดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามาก่อน ฯลฯ ร้อยละ 23.72% ระบุว่า ไม่ถูกใจ เพราะ ผลงานที่ผ่านมามีทั้งคนยอมรับและไม่ยอมรับ ได้รับการสนับสนุนจากพี่ชาย ฯลฯ ขณะที่ ร้อยละ 47.75% ระบุว่า เฉยๆ เพราะ เป็นหน่วยงานที่เคยกำกับ ดูแลมาแล้ว การเข้ามารับตำแหน่งในรัฐบาลชุดนี้น่าจะปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ฯลฯ