น.ส.ฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งแกนนำและแนวร่วมกลุ่มประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดงบางคนเข้ามาเป็นข้าราชการการเมืองว่า หากพิจารณาให้เป็นธรรม จะพบว่าบุคคลเหล่านี้ที่ถูกจัดวางให้ดำรงตำแหน่ง มี 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรก คือกลุ่มเสื้อแดงที่เคยเป็นผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งแม้จะไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ได้รับการตรวจสอบคุณสมบัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ในเบื้องต้นมาแล้ว กลุ่มสอง เป็นกลุ่มที่เคยทำงานการเมืองและมีตำแหน่งทางการเมืองมาแล้ว และกลุ่มสาม เป็นกลุ่มที่ทำงานด้านมวลชน ซึ่งการแต่งตั้งกลุ่มเสื้อแดงเข้ามาเป็นข้าราชการการเมือง มองว่าน่าจะเป็นเรื่องดีที่สามารถดึงบุคคลเหล่านี้ถูกเข้ามาสู่การเมืองในระบบได้
ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คนที่เข้ามาทำงานการเมืองนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง พร้อมเชื่อว่าคำวิจารณ์เรื่องการแบ่งแยกสีนั้นจะหมดไปจากประเทศไทยใน 4-5 ปี
สำหรับการแต่งตั้งนายอารี ไกรนรา หัวหน้าการ์ด นปช.มาเป็นเลขานุการ รมว.มหาดไทยนั้น ข้อเท็จจริงแล้วปูมหลังของนายอารี เคยเป็นผู้สมัคร ส.ส.มาหลายสมัย และเคยเป็นที่ปรึกษา รมว.มหาดไทยมาก่อน
"อย่าไปกังวล ตำแหน่งเหล่านี้ไม่ใช่ตำแหน่งที่จะไปเปลี่ยนแปลงประเทศได้ ถ้ามองให้ลึกน่าจะเข้ามามีส่วนช่วยในการทำงาน" นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมยกตัวอย่างกรณีของนายชินวัฒน์ หาบุญพาด แกนนำนปช. และประธานชมรมพิทักษ์ผลประโยชน์ผู้ขับแท็กซี่ มาเป็นที่ปรึกษา รมว.คมนาคมนั้น มองว่า หากมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มแท็กซี่ จะทำให้สามารถสะท้อนปัญหาได้ดีกว่า ขณะที่กรณีของนายยศวริศ ชูกล่อม(เจ๋ง ดอกจิก) เข้ามาเป็นผู้ช่วยเลขานุการ รมว.มหาดไทยนั้น ข้อเท็จจริงแล้วนายยศวริศ จบการศึกษาระดับปริญญาโท เคยทำงานที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กว่า 20 ปี ขณะที่เมื่อประกอบอาชีพตลก ก็เคยได้เป็นถึงนายกสมาคมตลก ซึ่งถือว่าได้รับการยอมรับจากคนในวงการเป็นอย่างดี
ส่วนปัญหาทางคดีที่กลุ่มเสื้อแดงเหล่านี้บางคนยังมีคดีติดตัวนั้น สังคมก็ควรต้องให้โอกาส เพราะในเมื่อยังไม่มีคำพิพากษา ถือว่าคนเหล่านี้เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่หากศาลมีคำตัดสินอย่างไรก็ต้องให้เป็นไปตามกระบวนการ
"คนออกมาต่อสู้ ก็ต้องมีบาดแผลบ้างเป็นธรรมดา ทางคดีก็ว่าไปตามกระบวนการ" รองโฆษกฯ กล่าว
โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ มีมติแต่งตั้งแกนนำ และแนวร่วม นปช.หลายคนขึ้นเป็นที่ปรึกษา, เลขานุการรัฐมนตรี รวมทั้งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี เช่น นายชินวัตน์ หาบุญพาด แกนนำกลุ่ม นปช.เป็นที่ปรึกษา รมว.คมนาคม, นายเพชรวรรต วัฒนพงษ์ศิริกุล แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 เป็นที่ปรึกษา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นายอารี ไกรนรา หัวหน้าการ์ด นปช. เป็นเลขานุการ รมว.มหาดไทย, นายยศวริศ ชูกล่อม แนวร่วม นปช.เป็น ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.มหาดไทย เป็นต้น
ส่วนตำแหน่งข้าราชการทางการเมืองอื่นๆ ของแต่ละกระทรวง เป็นดังนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย จำนวน 5 ราย ดังนี้ 1.นางนลินี ทวีสิน 2.นายพิเชษฐ์ สถิรชวาล 3.นายพฤติชัย วิริยะโรจน์ 4.นางลินดา เชิดชัย 5.นายวรวีร์ มะกูดี
กระทรวงพาณิชย์ : นายสมหวัง อัสราษี ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์, นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง เลขานุการ รมว.พาณิชย์
กระทรวงกลาโหม : พล.อ.จงศักดิ์ พานิชกุล ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม, พล.อ.วรวิทย์ ชินะนาวิน เลขานุการ รมว.กลาโหม
กระทรวงศึกษาธิการ : นายโสภณ เพชรสว่าง ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ, นายศักดา บูรณ์พงศ์ เลขานุการ รมว.
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร : นายณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ ที่ปรึกษา รมว., น.ส.วิลาวัลย์ ธรรมชาติ เลขานุการ รมว.
กระทรวงพลังงาน : พล.ต.ต.ลัทธสัญญา เพียรสมภาร ที่ปรึกษา รมว.พลังงาน, นายเอกธนัช อินทร์รอด เลขานุการ รมว.
กระทรวงการต่างประเทศ : นายนาวิน บุญเสรฐ เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ
กระทรวงคมนาคม : นายชินวัฒน์ หาบุญพาด ที่ปรึกษา รมว.คมนาคม, นายชาญยุทธ เฮงตระกูล เลขานุการ รมว.คมนาคม
กระทรวงแรงงาน : นางนฤมล ธารดำรงค์ ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน, นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการ รมว.แรงงาน