"สุเทพ"ปฏิเสธข้อกล่าวหาเจรจาลับเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา

ข่าวการเมือง Wednesday August 31, 2011 15:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ปฏิเสธไม่เคยเจรจาในทางลับกับรัฐบาลกัมพูชาเรื่องผลประโยชน์ทางทะเลตามที่องค์กรปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชาได้ออกแถลงการณ์เรื่องดังกล่าว แต่ตนเองได้รับมอบหมายจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้เป็นผู้รับผิดชอบในการเจรจาประสานงานกับรัฐบาลกัมพูชา

ที่ผ่านมาตนเองได้เดินทางไปประเทศกัมพูชา 2 ครั้ง โดยได้พบกับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อเจรจาเรื่องที่สมเด็จฮุนเซนรับปากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนนักโทษ ซึ่งหลังจากนั้นสมเด็จฮุนเซนได้สั่งให้ปล่อยนักโทษชาวมุสลิมไทยกลับมา 2 คน

ครั้งที่สอง ตนเองเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยไปร่วมพิธีเปิดถนนที่รัฐบาลไทยให้เงินช่วยเหลือ ซึ่งสมเด็จฮุนเซนบอกว่ามอบหมายให้นายซก อาน รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เจรจากับตนเองในเรื่องต่างๆ ซึ่งตนเองได้พยายามติดต่อนัดหมายเชิญนายซก อาน เดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อจะได้คุยและเริ่มต้นนับหนึ่งการเจรจากัน แต่ได้รับคำตอบว่ายังไม่สะดวกที่จะมาประเทศไทย และขอคุยนอกรอบ ซึ่งต่อมาได้นัดพบกันที่ฮ่องกง

นายสุเทพ กล่าวว่า ได้นั่งคุยกันว่าตนเองและนายซก อาน จะเป็นหัวหน้าคณะทั้ง 2 ฝ่าย โดยขอให้จัดการประชุมรอบแรกจะคุยกันในเรื่องที่ค้างคากันอยู่จากรัฐบาลก่อนๆ ซึ่งก็มีเรื่องการพัฒนาทรัพยากรในทะเลด้วย

ทั้งนี้นายซก อาน ได้เคยพูดคุยกับรัฐบาลก่อนๆ มาแล้วว่า ได้คุยกับใครมาอย่างไร วางแนวทางขีดเป็นโซนๆ อย่างไร ด้านที่อยู่ติดประเทศก็จะให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มาก ด้านที่อยู่กับกัมพูชา กัมพูชาก็จะได้ประโยชน์มาก ตรงกลางแบ่งครึ่งๆ ยกมาอธิบายให้ผมฟัง แต่ว่าท่านก็บอกว่า ทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัว อยากจะแบ่งเป็นตารางหมากรุก แล้วจับฉลากว่าใครได้ตรงไหน อย่างไร จะได้ไปบริหารจัดการได้ ตนเองได้บอกนายซก อาน ไปว่า ทั้งหมดต้องไปเจรจากันที่ประเทศไทย ให้ไปทำการบ้านมา เพราะตนเองทราบว่า ท่านมีอะไรในใจ ซึ่งเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยก็มีการกำหนดกรอบ และตนเองต้องทำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภาเพื่อขออนุมัติ หากอนุมัติในกรอบที่กล่าวไปก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนั้นมีเรื่องการขอบริหารพื้นที่ ซี่งตนเองได้บอกว่า ถ้าเราคิดถึงเรื่องที่จะร่วมมือพัฒนาพื้นที่ น่าจะเอาบริเวณรอบๆ เขาพระวิหาร มาทำในลักษณะเดียวกัน คือ เป็นความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศ

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า เมื่อเดินทางกลับไทย ก็ได้ทำหนังสือเป็นทางการเชิญนายซก อาน ให้มาร่วมประชุมที่ไทย แต่ไม่ทันได้มีความก้าวหน้า ก็เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่าง 2 ประเทศขึ้นก่อน จึงยกเลิกเอ็มโอยูก่อน จนทุกวันนี้หนังสือเชิญก็ยังเปิดอยู่ ส่วนครั้งที่ 2 ตนเองได้รับเชิญพร้อมเพื่อนอีกหลายคนไปประชุมที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน เรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในงานดังกล่าว นายซก อาน เป็นตัวแทนกัมพูชาก็มีการนัดคุยกัน แต่ถามทุกข์สุขเพราะความสัมพันธ์ไทยกัมพูชาไม่ค่อยดี

"ที่ว่าเป็นเรื่องลับไม่เปิดเผย เพราะ 2 ประเทศหงุดหงิดกันอยู่นั้น ตามมารยาทคนรู้จักกันก็ได้พบกัน ผมยังได้กล่าวฝากความรำลึกไปถึงสมเด็จฮุนเซนด้วย และยังยืนยันว่าประเทศไทยต้องการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ที่ไม่ดีของ 2 ประเทศโดยวิธีการเจรจา สะดวกเมื่อไรขอให้นัดมา ประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพ ทั้งหมดมีเท่านี้" นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวว่า เขาจะออกมากล่าวหานั้น ตนเองคงไม่ไปตำหนิอะไรตอนนี้ เพราะไม่ได้ยินหรือได้เห็นแถลงการณ์ตัวจริงว่า ใครแถลง และแถลงว่าอย่างไร และคิดว่าไม่ได้เป็นความลับอะไร เพราะเวลาจะเจรจาเรื่องสำคัญๆ ของบ้านเมืองต้องมีการคุยกันนอกรอบก่อน และเรื่องนี้ก็มีการเจรจา ไม่ใช่เป็นเรื่องลึกลับ

"ไม่มีทางที่จะไปทำกันอย่างลับๆ ในเรื่องการตกลงเรื่องผลประโยชน์นั้นคงทำไม่ได้ ถึงเวลาที่พรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาลเวลาไปเจรจานอกรอบกันอย่างไรก็ตามใจ แต่ว่าถึงเวลาก็ต้องมาขออนุมัติต่อรัฐสภาว่าจะเจรจาในประเด็นใดบ้าง อย่างไร และเมื่อถึงวันนั้น เราก็มีโอกาสสอบถามได้" นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวว่า หากมีการกล่าวหาว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์มากกว่าจึงมีการเจรจาในทางลับก็คงต้องชี้แจงตอบโต้ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นแถลงการณ์ แต่ถ้าพูดไปก่อนจะทำให้เกิดความเสียหาย และไม่คิดจะไปกล่าวหารัฐบาลปัจจุบันเรื่องอะไร เพียงแต่คนที่วิจารณ์อาจมองว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนไปเจรจาอาจไม่เหมาะสม เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่ผู้ที่มีสถานภาพที่รัฐบาลมอบหมายให้เป็นตัวแทนไปเจรจาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

นายสุเทพ ยืนยันว่า ทั้งตนเองและพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นเรื่องของ 2 ประเทศ พื้นที่ที่เราอ้างว่าเป็นของเรา เขาก็อ้างว่าเป็นของเขา นั่นคือการทับซ้อน ที่เป็นเรื่องที่ต้องเจรจากัน การไปเจรจาเรื่องอย่างนี้ ไม่มีทางที่ใครจะไปทำให้เป็นเรื่องประโยชน์ส่วนตัวได้ เพราะต้องให้สาธารณชนรับรู้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

"เรื่องในทะเล ถ้าถามผม ผมสนับสนุน เพราะเรามีทรัพยากรในทะเล 2 ประเทศ ควรจะร่วมมือกันพัฒนาเอามาใช้ประโยชน์ ไม่ต้องทะเลาะกัน เราเคยมีตัวอย่างที่เคยทำมาแล้ว เช่น มาเลเซียและเวียดนาม กับกัมพูชาคงต้องเดินหน้าต่อไป แนวทางการเจรจาจะเป็นอย่างไรอยู่ที่ทีมการเจรจาทั้ง 2 ฝ่าย และจุดยืนของรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายว่าจะทำอย่างไร" นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ เชื่อว่า การเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลจะไม่ทำให้ไทยเสียเปรียบกัมพูชา เพราะเจ้าหน้าที่ของไทยไม่ว่า กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการเจรจาไม่ยอมให้ประเทศไทยเสียเปรียบง่ายๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ