In Focus“โยชิฮิโกะ โนดะ" กับเผือกร้อนและอาถรรพ์เก้าอี้นายกฯญี่ปุ่น!

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 31, 2011 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

และแล้วญี่ปุ่นก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ผู้มีนามว่า “โยชิฮิโกะ โนดะ" ซึ่งนับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ในรอบ 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ผู้นำคนใหม่คงแทบไม่มีเวลาได้ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่หอมหวาน เพราะตำแหน่งและเกียรติยศนี้ไม่ได้มาพร้อมชื่อเสียง เงินทอง หรือสายสะพาย แต่เป็นภาระหน้าที่และแรงกดดันอันแสนหนักอึ้งต่างหากที่กำลังหายใจรดต้นคอเขาอยู่

นายกรัฐมนตรีรากหญ้า

โยชิฮิโกะ โนดะ เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2500 ในครอบครัวยากจนในเมืองฟุนาบาชิ จังหวัดชิบะ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของโตเกียว นายโนดะเป็นหลานของชาวนา และเป็นบุตรชายของข้าราชการในกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น

โนดะ ซึ่งเป็นแฟนกีฬาประเภทศิลปะการต่อสู้ตัวยง ทั้งมวยและมวยปล้ำ อีกทั้งยังมีดีกรีเป็นถึงนักยูโดสายดำ ได้กล่าวถึงชีวิตที่ลำเค็ญในอดีตว่า พ่อแม่ของเขายากจนมากถึงขนาดไม่มีเงินจัดงานเลี้ยงแต่งงาน ขณะที่ตัวเขาเอง ช่วงหนึ่งก็เคยลำบากถึงขั้นไม่สามารถซื้อเสื้อผ้าให้ลูกๆที่ยังเล็กได้ พร้อมกับเปรียบเทียบตัวเองว่า คงไม่มีวันที่จะได้เป็นปลาทอง คงเป็นได้แต่ปลาหมูในน้ำโคลน หรือปลาที่กินอาหารตามพื้นก้นแหล่งน้ำ

“นั่นเป็นสาเหตุที่ผมไม่เหมือน ‘เด็กเมือง’" เขากล่าวในการปราศรัยก่อนการลงคะแนนเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (ดีพีเจ) เมื่อวันจันทร์ (30 ส.ค.) ซึ่งชัยชนะดังกล่าวจะหมายถึงการก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศด้วย "ผมจะทำงานหนักเพื่อประชาชน เพื่อนำพาการเมืองเคลื่อนไปข้างหน้า"

โนดะสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวาเซดะในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่และทรงเกียรติของญี่ปุ่นเมื่อปี 2523 จากนั้นเขาได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาที่สถาบัน Matsushita Institute of Government and Management ซึ่งก่อตั้งโดยนายโคโนสุเกะ มัตสึชิตะ ผู้ก่อตั้งบริษัทพานาโซนิค ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะให้เป็นโรงเรียนผลิตผู้นำรุ่นใหม่ในอนาคตทั้งทางสายการเมืองและธุรกิจ โดยสถาบันแห่งนี้มีศิษย์เก่าเป็นนักการเมืองถึง 70 คน และนายโนดะถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่จบการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้

ในขณะศึกษาที่สถาบันมัตสึชิตะนั้น นายโนดะทำงานพิเศษเป็นคนอ่านมิเตอร์ไฟฟ้าตามบ้านในจังหวัดบ้านเกิดที่ชิบะ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพื่อทำความรู้จักและศึกษาชาวบ้านผู้อาจกลายมาเป็นฐานเสียงของเขาในอนาคต โดยถือเป็นการเตรียมตัวก่อนกระโดดลงเล่นการเมือง

นายโนดะเริ่มต้นอาชีพทางการเมืองในฐานะสมาชิกสภาท้องถิ่นในจังหวัดชิบะเมื่อปี 2530 ขณะอายุ 29 ปี ต่อมาในปี 2536 โนดะจึงได้รับเลือกเข้าสู่รัฐสภาญี่ปุ่น หรือสภาไดเอท เป็นครั้งแรก ในฐานะสมาชิกของพรรคเจแปน นิว ปาร์ตี้ ซึ่งปัจจุบันได้ยุบพรรคไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2539 ก่อนที่จะกลับเข้าสู่แวดวงการเมืองระดับประเทศอีกครั้งในปี 2543 ในฐานะสมาชิกพรรคดีพีเจ และกลายเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติมาโดยตลอดนับแต่นั้น

นายโนดะไม่เคยมีประสบการณ์ในคณะรัฐมนตรีระดับสูงมาก่อนเลย จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 2553 เขาจึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อจากนายนาโอโตะ คัง ที่กำลังจะก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี (โดยก่อนหน้านั้น โนดะได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบสำนักประชาสัมพันธ์ของพรรคดีพีเจ และเป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการรัฐสภา จนกระทั่งเมื่อพรรคดีพีเจขึ้นครองอำนาจในสภาไดเอทเมื่อเดือนกันยายน 2552 นายโนดะจึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จนกระทั่งได้กลายเป็นรัฐมนตรีคลังอายุน้อยที่สุดในรอบ 20 ปี)

และแล้วตำแหน่งสูงสุดบนเส้นทางการเมืองก็มาถึง เมื่อนาโอโตะ คัง ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคดีพีเจ และนายกรัฐมนตรีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 ส.ค.) ซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่เมื่อวันจันทร์และชัยชนะตกเป็นของนายโนดะ ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎร หรือ สภาล่างจะมีมติรับรองให้โนดะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศคนใหม่เมื่อวานนี้

“คะแนนสนับสนุนผมอาจไม่สูงนักเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี" โนดะ วัย 54 ปีกล่าว “แต่ผมจะทำงานอย่างหนักและทุ่มเททุกหยาดเหงื่อแรงกายเพื่อผลักดันนโยบายต่างๆที่มีความ 'ติดดิน'"

ภารกิจ “เผือกร้อน" ที่ต้องรีบสะสาง

  • วิกฤตเศรษฐกิจ

ในระหว่างทำหน้าที่รมว.คลังภายใต้การนำของนายกฯคังนั้น โนดะออกตัวสนับสนุนแผนการของรัฐบาลในการปฏิรูปการคลังของประเทศอย่างแข็งขัน ซึ่งไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การผลักดันการขึ้นภาษีการขาย หรือภาษีการบริโภค เพื่อนำมาชดเชยกับค่าใช้จ่ายด้านประกันสังคมที่พุ่งสูงขึ้นในขณะที่ประชากรสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนเพื่อปรับลดหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล โดยญี่ปุ่นมีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีในปีนี้อยู่ที่ 233% ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และมีแนวโน้มว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นในปีต่อๆไป

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นที่สูญเสียอันดับประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ให้กับจีน และเพิ่งคลานต้วมเตี้ยมพ้นจากภาวะถดถอยได้ไม่นานนัก ก็มีอันต้องกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งหลังจากที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์ และสึนามิครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่สร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศและทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 20,000 คน ภัยพิบัติดังกล่าวยังเป็นชนวนเหตุให้เกิดวิกฤตนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์เชอร์โนบิลเมื่อปี 2529 ซึ่งนายโนดะกล่าวว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องขึ้นภาษีต่างๆชั่วคราวเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบูรณะฟื้นฟูประเทศจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ดังกล่าว

ขณะเดียวกัน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมว.คลัง นายโนดะยังเป็นผู้คุมบังเหียนญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราถึง 3 ครั้งในรอบปีที่ผ่านมาเพื่อแก้ปัญหาเงินเยนแข็งค่า ซี่งหนึ่งในนั้นรวมถึงการเข้าแทรกแซงตลาดร่วมกับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ จี7 ภายหลังจากที่เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม

ทั้งนี้ เงินเยนได้แข็งค่าขึ้นประมาณ 19% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ที่นายคังขึ้นทำหน้าที่บริหารประเทศในเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว และทำสถิติแข็งค่าสูงสุดในยุคหลังสงครามโลกที่ 75.95 เยนเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ซึ่งเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอย่างมากนั้น ถือเป็นอุปสรรคขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออก และเงินเยนแข็งค่าจะเป็นแรงผลักดันให้บริษัทต่างๆ โยกย้ายฐานการผลิตและกำลังคนไปยังต่างประเทศด้วย

โดยนายโนดะให้คำมั่นว่า จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด และต้องการที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารกลางญี่ปุ่น เพื่อสกัดกั้นเงินเยนที่แข็งค่า

ขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนใช้จ่ายเงิน 19 ล้านล้านเยน (2.48 แสนล้านดอลลาร์) ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อฟื้นฟูประเทศจากความเสียหายอันเนื่องมาจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ ซึ่งจำนวนดังกล่าวได้รวมถึงเงินรวม 6 ล้านล้านเยน จากงบประมาณพิเศษ 2 งวดที่ลงนามบังคับใช้ในสมัยของนายคัง

นายโนดะกล่าวในการประชุมครม.นัดสุดท้ายของนายคังเมื่อวานนี้ว่า เขาต้องการผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนที่สามโดยเร็ว พร้อมยอมรับว่า สถานการณ์การคลังของญี่ปุ่นอยู่ในขั้นรุนแรง และประเทศไม่สามารถรอช้าได้สำหรับการปรับปรุงระบบประกันสังคมและภาษี

  • วิกฤตการเมือง

อย่างไรก็ตาม การที่จะผลักดันการปฏิรูปการคลังเพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นเผชิญอยู่นั้น โนดะจะต้องเร่งทลายกำแพงหนาหนักที่เป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งในการบริหารประเทศของรัฐบาลควบคู่ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งนั่นก็คือภาวะชะงักงันทางการเมือง

ภาวะชะงักงันดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการแบ่งแยกในรัฐสภา กล่าวคือหลังจากที่พรรคดีพีเจพ่ายศึกเลือกตั้งสมาชิกสภาสูง หรือวุฒิสภา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 จึงส่งผลให้ในปัจจุบันพรรคฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ซึ่งจะทำให้ฝ่ายค้านสามารถโหวตขวางร่างกฎหมายที่ทางรัฐบาลเสนอมาได้

การปรับปรุงความสัมพันธ์กับพรรคฝ่ายค้านจึงถูกมองว่าเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของนายโนดะ ซึ่งแนวคิดหนึ่งที่มีการหารือกันมานานแล้วก็คือ "grand coalition" หรือการสลายขั้วตั้งรัฐบาลผสมระหว่างสองพรรคใหญ่ต่างขั้วอย่าง ดีพีเจ และพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ด้วยความหวังว่าจะเป็นการยุติภาวะชะงักงันด้านกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในยามที่ญี่ปุ่นยังคงต้องพยายามดิ้นรนเพื่อฟื้นฟูประเทศ

อย่างไรก็ดี ความหวังดังกล่าวยังส่องประกายเพียงแค่รำไร เพราะดูเหมือนว่าสมาชิกส่วนหนึ่งของพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคฝ่ายค้านหลักทั้งสองพรรคอย่างแอลดีพีและนิวโคเมโตะ ยังไม่กระตือรือร้นกับแนวคิดนี้เท่าไรนัก

นอกเหนือจากรับช่วงต่อปัญหาเศรษฐกิจที่หดตัวติดต่อกันมาสามไตรมาสแล้วนั้น โนดะยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการฟื้นฟูคะแนนสนับสนุนพรรคดีพีเจที่เสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการงัดข้อกันทางการเมืองภายในพรรคเอง

โนดะ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของญี่ปุ่นนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นนายกฯคนที่ 3 ในสังกัดพรรคดีพีเจนับตั้งแต่ที่พรรคคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปและได้จัดตั้งรัฐบาลเมื่อสองปีก่อน จะต้องเรียกศรัทธาของสาธารณชนที่มีต่อพรรคกลับคืนมา โดยล่าสุดหนังสือพิมพ์โยมิอูริได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิออกเสียง 1,055 คนในระหว่างวันที่ 27-28 ส.ค. ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คะแนนสนับสนุนพรรคดีพีเจอยู่ที่ 21% ขณะที่คะแนนสนับสนุนพรรคแอลดีพี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักและเคยเป็นรัฐบาลบริหารประเทศมานานถึงครึ่งศตวรรษก่อนพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้ดีพีเจในปี 2552 นั้น มีอยู่ 23% ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามอีก 46% ระบุว่าไม่สนับสนุนพรรคใดเลย

อาถรรพ์เก้าอี้ผู้นำญี่ปุ่น

เหนืออื่นใดนั้น สิ่งหนึ่งที่นายโนดะจะต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ อาถรรพ์เก้าอี้ผู้นำญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เปลี่ยนผู้นำรัฐบาลบ่อยที่สุดประเทศหนึ่ง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีนายกรัฐมนตรีถึง 5 คน (ยังไม่นับรวมโนดะ) หรือเท่ากับว่าญี่ปุ่นเปลี่ยนนายกฯเฉลี่ยปีละครั้งเลยทีเดียว

ทั้งนี้ นับตั้งแต่นาย จุนอิชิโร่ โคอิซูมิ ทำสถิติเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุดเป็นอันดับ 3 ด้วยระยะเวลา 5 ปี (26 เม.ย. 2544 — 26 ก.ย. 2549) จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีนายกฯคนใดได้เฉียดใกล้สถิติดังกล่าวอีกเลย ไล่ตั้งแต่นายชินโซ อาเบะ, ยาสุโอะ ฟูกูดะ, ทาโร อาโสะ, ยูกิโอะ ฮาโตยามะ และนาโอโตะ คัง ซึ่งต่างก็ทำหน้าที่บริหารประเทศได้เฉลี่ยคนละหนึ่งปีเท่านั้น

สำหรับอายุงานของนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น ดูหม่นหมอง ไม่สดใส ตั้งแต่แรกเริ่มเลยทีเดียว ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะโนดะมีฐานเสียงไม่มากพอทั้งในหมู่ประชาชนและภายในพรรคดีพีเจเอง

“เขาไม่มีฐานอำนาจที่เข้มแข็งเป็นของตนเอง ผมจึงคิดว่า การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯของเขามาจากสถานะที่อ่อนแอ และผมเดาว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ชาวญี่ปุ่นเรียนรู้ที่จะไม่คาดหวังมากจนเกินไปนักจากการเปลี่ยนแปลงผู้นำ" ดร.เจฟฟ์ คิงส์ตัน ผู้อำนวยการภาควิชาเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัย Temple University Japan กล่าว พร้อมกับเสริมว่า โนดะจำเป็นต้องมีทีมงานและพันธมิตรที่ดีเพื่อสนับสนุนให้งานบริหารประเทศของเขาเดินหน้า

ด้านนายยาสุฮิเดะ ยาจิมะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่สถาบันวิจัยเอ็นแอลไอ ในกรุงโตเกียว กล่าวว่า อายุขัยของรัฐบาลนายโนดะนั้นขึ้นอยู่กับว่าเขาจะสามารถดำเนินนโยบายและมาตรการที่สำคัญๆได้เร็วแค่ไหน

การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯญี่ปุ่นของนายโนดะมีขึ้นไม่ถึงสัปดาห์หลังจากที่มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นลงหนึ่งขั้นสู่ระดับ Aa3 โดยให้เหตุผลถึงความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งจะทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับรัฐบาลในการควบคุมภาระหนี้สิน

อย่างไรก็ดี ทาคาฮิระ โอกาว่า ผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับความน่าเชื่อถือรัฐบาลของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ เปิดเผยว่า เอสแอนด์พีจะยังไม่เปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นภายหลังจากที่นายโนดะได้รับเลือกให้ขึ้นเป็นนายกฯ

“กุญแจสำคัญอยู่ที่ว่า รัฐบาลของนายโนดะจะอยู่ได้นานเพียงใด และโนดะจะเปลี่ยนแปลงจุดยืนจากเมื่อครั้งที่เป็นรมว.คลังหรือไม่" นายโอกาว่ากล่าว

ด้านนายเคนสุเกะ ทาคายาสุ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเซเค ซึ่งเคยคาดการณ์ว่า รัฐบาลยุคหลังนายคังจะอยู่ไม่นานนั้น กล่าวว่า ญี่ปุ่นควรจะตั้งกฎเกณฑ์และกติกาทางการเมืองขึ้นมาใหม่ ซึ่งการลาออกของนายคังพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเมืองของประเทศไม่เป็นระบบ และสถานภาพของนายกฯก็เปราะบางมาก

ในโพลล์สำรวจความคิดเห็นทั่วประเทศซึ่งเผยแพร่โดยนสพ.โยมิอูริเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หรือก่อนที่จะมีการเลือกหัวหน้าพรรคดีพีเจนั้น ปรากฏว่า นายโนดะได้รับคะแนนสนับสนุนเพียง 9% สำหรับตำแหน่งดังกล่าว ขณะที่ 2 คู่แข่งคนสำคัญของเขาอย่างนายบันรี ไคเอดะ รมว.การค้า และนายเซจิ มาเอฮาร่า รมว.ต่างประเทศนั้น มีคะแนน 12% และ 48% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี นายโนดะกล่าวว่า "ผมทราบดีว่าผมนั้นเหมือนปลาหมูถ้าผมได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เราไม่สามารถคาดหวังว่าคะแนนสนับสนุนของเราจะเพิ่มสูงขึ้นในทันที แต่ปลาหมูก็มีคุณค่าในตัวเอง แม้ว่ามันจะทำไม่ได้เหมือนกับปลาทองก็ตาม"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ