รายงานข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า ที่ประชุมกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มีนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ในช่วงก่อนเข้าวาระประชุมนายสมชาย ได้แจ้งว่าตามที่กรรมการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เห็นชอบให้ดำเนินคดีกรณีกรรมการสรรหากรรมการกิจการวิทยุ กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดให้เป็นคดีพิเศษนั้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้นายสัก กอแสงเรือง ประธานที่ปรึกษาด้านสิทธิเสรีภาพ ของ กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ ทำเรื่องเสนอไปยัง พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เพื่อให้คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายประธานวุฒิมีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว เพื่อสร้างความชัดเจนต่อการทำหน้าที่ ส.ว. รวมถึงมีมูลเหตุใดหรือไม่ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่นำรายชื่อ 11 ว่าที่กสทช. ขึ้นทูลเกล้าฯ โดยเตรียมยื่นให้ประธานวุฒิสภาภายในสัปดาห์นี้
ด้านนายสัก กอแสงเรือง กล่าวว่า การทำงานของพนักงานสอบสวนของดีเอสไอ ได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ผิดปกติ คือ มีการชี้แนะ ชี้นำกลุ่มอื่นไปดำเนินการยื่นเรื่องต่อกรรมาธิการตรวจสอบประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กสทช., ประธานวุฒิสภา, กรรมาธิการ, เลขาธิการวุฒิสภาให้สอบสวนหรือพิจารณาหาข้อเท็จจริง ซิ่งไม่ใช่หน้าที่ของพนักงานสอบสวน อีกทั้งได้มีการชี้นำมาสู่ในขั้นตอนของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีความพยายามหยุดการทำหน้าที่ของวุฒิสภา
ที่สำคัญโดยหลักของการกฎหมายคดีพิเศษ ระบุว่าการสอบสวนต้องไม่เปิดเผยข้อมูลซึ่งจะกระทบและสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น หากเปิดเผยแล้วถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และที่ผ่านมาพบว่าพนักงานสอบสวนได้เปิดเผยถึงกรรมการสรรหา กสทช. ซึ่งโดยสาธารณะทราบดีว่า กรรมการสรรหา กสทช.ประกอบด้วยใครบ้าง และที่สำคัญชั้นพนักงานสอบสวนไม่สามารถเปิดเผยสำนวนได้ และไม่มีสิทธิให้ข่าวชี้ว่าใครผิด
ด้านนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ฐานะรองประธาน กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.กสทช. กำหนดเป็นข้อบังคับชัดเจนว่า เมื่อสำนักงานเลขาธิการกสทช. ส่งรายชื่อ กสทช. ให้ครม.พิจารณาแล้ว นายกฯ ต้องส่งรายชื่อ 11 กสทช. ขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ในกฎหมายไม่ได้ระบุว่าภายใต้เงื่อนไขเวลาเท่าใด ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการยื้อเวลาได้ ส่วนในทางคดีนั้น เมื่อผลชี้ว่ากรรมการ กสทช. มาโดยไม่ชอบ จะไม่ส่งผลใดๆ ต่อส.ว. เพราะเป็นคนละกระบวนการ