ผลการศึกษาของนักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สเตท เผยว่า ข่าวเกี่ยวกับนักการเมืองสหรัฐ รวมถึงการหาเสียงผ่านสื่อ มีอิทธิพลต่อชาวอเมริกันน้อยกว่าข่าวอื่นๆ และชาวอเมริกันอ่อนไหวกับข่าวประท้วงรวมถึงเหตุการณ์ต่างๆในท้องถิ่นมากกว่า
ผศ.คอร์วิน ชมิดท์ จากคณะรัฐศาสตร์ เผยแพร่ผลการศึกษาดังกล่าวในวารสารออนไลน์ Public Opinion Quarterly "ผลการศึกษาบ่งชี้ว่านักการเมืองใช้สื่อโน้มน้าวใจประชาชนได้ไม่มากเท่าที่คิด" นายชมิดท์ กล่าว
นายชมิดท์ศึกษาข่าวระดับประเทศ 2 ข่าว ได้แก่ ข่าวการควบคุมอาวุธปืนในปี 2543 และการปฏิรูปสาธารณสุขในปี 2552 ซึ่งจากทั้งสองกรณีพบว่า การรายงานข่าวเกี่ยวกับการถกเถียงของนักการเมืองมีผลน้อยมากหรือไม่มีผลต่อการสำรวจความเห็นของประชาชนเลย แต่เขากล่าวว่าอาจมีเหตุผลอื่นๆที่ทำให้ผลการศึกษาออกมาเป็นเช่นนี้ อย่างเช่น การที่มีการรายงานข่าวการเมืองมากเกินไปผ่านทางช่องข่าวและอินเทอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะเดียวกันข่าวการประท้วงดูเหมือนว่าจะโดนใจประชาชนมากกว่า ตัวอย่างเช่น ข่าว Million Mom March เมื่อปี 2543 ซึ่งเป็นการประท้วงเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายครอบครองอาวุธปืนที่มีความเข้มงวดกว่าเดิม มีอิทธิพลต่อสาธารณชนอย่างมาก
ผลการศึกษายังเผยว่าข่าวเกี่ยวกับประวัติการก่ออาชญากรรมด้วยปืนก็มีอิทธิพลมาก แม้ว่าจะน้อยกว่าข่าวการประท้วงก็ตาม
นายชมิดท์กล่าวว่า เขาไม่ได้มองว่าทำไมสื่อรายงานข่าวนั้น แต่มองว่าประชาชนมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อข่าว บางคนเชื่อว่าสื่อเป็นผู้กำหนดข่าว แต่เขาเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป
"สื่อยังคงเป็นผู้กุมอำนาจ หากสื่อไม่รายงานข่าวเราก็อาจไม่รู้เรื่องนั้นเลย แต่ข่าวทุกข่าวที่สื่อรายงานมีอิทธิพลไม่เหมือนกัน" นายชมิดท์กล่าว "แท้จริงแล้วเนื้อเรื่องในข่าวต่างหากที่อาจเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดของประชาชน" สำนักข่าวซินหัวรายงาน