ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบคโพลล์ รายงานดัชนีความสุขมวลรวม(Gross Domestic Happiness:GDH) ในช่วงโค้งแรกของรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนไม่มีความสุขด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจ แต่มีความสุขด้านสังคมที่ได้เห็นการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
"เมื่อพิจารณาโดยรวมของแต่ละด้านพบว่า ประชาชนไม่มีความสุขมวลรวมด้านการเมือง 84.56 จุด ไม่มีความสุขมวลรวมด้านเศรษฐกิจ 77.58 จุด แต่มีความสุขมวลรวมด้านสังคม 109.30 จุด...ผลการศึกษาด้านสังคมปรากฏว่า ประชาชนมีความสุขที่ได้เห็นประชาชนแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากที่สุดอยู่ที่ระดับ 162.7 จุด" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ทั้งนี้ เอแบคโพลล์ทำการสำรวจดังกล่าวด้วยจำนวน 26 ตัวชี้วัด และแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง หากค่าอ้างอิงความสุขอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 จุดแสดงว่าประชาชนไม่มีความสุข
โดยผลการศึกษาที่พบว่าประชาชนไม่มีความสุขต่อทุกตัวดัชนีชี้วัดด้านการเมือง ได้แก่ ไม่มีความสุขต่อนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันเปรียบเทียบกับรัฐบาลยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ไม่มีความสุขต่อการทำงานของรัฐบาลในการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา, ไม่มีความสุขต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในช่วง 30 วันที่ผ่านมา, ไม่มีความสุขต่อการทำงานของรัฐบาลโดยภาพรวมช่วงนี้, ไม่มีความสุขต่อการพบเห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วง 30 วันที่ผ่านมา, ไม่มีความสุขต่อการทำงานของนักการเมืองฝ่ายค้าน นักการเมืองระดับท้องถิ่นในชุมชน และนักการเมืองระดับชาติในช่วง 30 วันที่ผ่านมา, ไม่มีความสุขต่อสถานการณ์การเมืองโดยภาพรวมในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ส่วนผลการศึกษายังพบว่าประชาชนไม่มีความสุขต่อทุกตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจเช่นกัน ได้แก่ รายได้ส่วนตัวเปรียบเทียบกับช่วงเวลารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ หรือจะเป็นเรื่องรายได้ครัวเรือน และการใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน การร้องเรียกสิทธิของผู้บริโภคจากกลุ่มนายทุนผู้ประกอบธุรกิจ และสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
แต่ในขณะเดียวกันผลการศึกษาด้านสังคมกลับพบว่าประชาชนมีความสุขที่ได้เห็นประชาชนแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากที่สุด รองลงมาคือความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวช่วง 30 วันที่ผ่านมา, ความสุขต่อสุขภาพทางใจ, ความสุขต่อหน้าที่การงานและอาชีพที่ทำอยู่, ความสุขต่อการให้บริการด้านการรักษาพยาบาลในชุมชน, ความสุขต่อคุณภาพด้านการศึกษาของบุตรหลาน, ความสุขต่อสุขภาพทางกาย และความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชนช่วง 30 วันที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามประชาชนไม่มีความสุขต่อสภาพถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำดื่มน้ำใช้ในชุมชน, ไม่มีความสุขต่อวัฒนธรรมประเพณีไทยที่ถูกละเลยกันไป, ไม่มีความสุขต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย คนไทย เด็กไทย และไม่มีความสุขด้านความเป็นธรรมในสังคม
"เมื่อวิเคราะห์ตัวชี้วัดความสุขทั้ง 26 ตัวชี้วัดพบว่า ประชาชนมีความสุขเพียง 8 ตัวชี้วัดเท่านั้น ในขณะที่ประชาชนไม่มีความสุขต่อ 18 ตัวชี้วัดที่เหลือ และค่าความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศทุกด้านรวมกันไม่มีความสุขอยู่ที่ระดับ 90.48 ซึ่งต่ำกว่าค่าความสุขมาตรฐานในการศึกษาครั้งนี้" นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ ระบุ
สำหรับผลสำรวจครั้งนี้ เอแบคโพลล์สอบถามจากกลุ่มตัวอย่างใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 2,520 ตัวอย่าง ช่วงวันที่ 1-10 กันยายนที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้นที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนตัวอย่างระดับครัวเรือน