พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ และนายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ในฐานะประชาชนผู้เสียสิทธิการเลือกตั้งตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้วินิจฉัยจากเหตุที่ไม่ได้ยื่นเปลี่ยนสิทธิการใช้สิทธินอกเขตเลือกตั้ง ได้ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.54 แล้วให้จัดการเลือกตั้งใหม่ หลังจากเคยยื่นคำร้องมาแล้วเมื่อช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาและศาลฯ สั่งยกคำร้อง
โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่ได้ยื่นคำร้องให้ศาลตัดสินเพิกถอนการเลือกตั้งดังกล่าวแล้วศาลสั่งยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าไม่มีกฎหมายรองรับให้ศาลตัดสินเพิกถอนการเลือกตั้งดังกล่าว ต่อมาได้พบประเด็นที่คิดว่าน่าจะยื่นคำร้องต่อศาลฯ ได้อีกครั้ง โดยอ้างสิทธิตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เพราะฉะนั้นแม้กฎหมายจะไม่ได้บัญญัติอย่างชัดเจนในการเพิกถอนการเลือกตั้ง แต่หากประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งแล้วก็ไม่สามารถที่จะไปร้องที่ศาลอื่นได้ เนื่องจาก กกต.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวอีกว่า การยื่นคำร้องครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ พล.ต.จำลอง และนายสมคิด ที่เป็นผู้เสียสิทธิโดยตรงจะยื่นคำร้องโดยเน้นเรื่องการอ้างสิทธิต่อรัฐธรรมนูญว่าประชาชนมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรม ประกอบกับหลักฐานเดิมที่เคยยื่นไปก่อนหน้านี้ ขณะที่ตนเองมาในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนางภาณี ถิรังกรู ซึ่งเป็นประชาชนที่ถูกบันทึกและไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตล่วงหน้า ทำให้เสียสิทธิร่วมกับประชาชนอีกราว 2 ล้านคน จะมีการยื่นบางมุมที่ไม่เหมือนกันในเรื่องข้อกฎหมาย โดยจะเน้นเรื่องสาเหตุที่ศาลตัดสินว่าใช้อำนาจข้อใด ซึ่งหากศาลไม่พิจารณาเลย ประชาชนจะเสียสิทธิตามรัฐธรรมนูญทันที และไม่มีทางที่จะไปฟ้องที่ศาลอื่นได้ เพราะประชาชนจะเสียสิทธิไปตลอดกาลไม่ว่าการเลือกตั้งจะไม่ชอบธรรม หรือ กกต.จะทำผิดพลาดมากน้อยแค่ไหน เราจึงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการสร้างบรรทัดฐานเรื่องนี้ต่อไป
"ครั้งก่อนศาลฎีกาฯ ไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริง และไม่วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งชอบธรรมหรือไม่ เพียงแต่บอกว่าศาลไม่มีอำนาจที่จะไปพิจารณาเพิกถอนการเลือกตั้ง เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ แต่เราเห็นว่าแม้จะไม่มีกฎหมายก็ไม่สามารถอ้างเหตุเพื่อไม่พิจารณา เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่าประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับความยุติธรรม" นายปานเทพ กล่าว
โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า เราต้องพยายามให้สุดทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ศาลไม่วินิฉัยข้อเท็จจริงก่อนหน้านี้ และชี้แจงว่าไม่มีกฎหมายรองรับ ทั้งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรองรับสิทธิของประชาชน แม้ว่าไม่มีกฎหมายรองรับศาลก็จะเป็นต้องพิจารณาในกรณีแบบนี้ ไม่เช่นนั้นย่อมหมายถึงรัฐธรรมนูญไม่สามารถใช้ได้ในทางปฏิบัติ ในความเป็นจริงสามารถเทียบเคียงได้กับกรณีสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และกรณีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่าประชาชนได้รับสิทธิคุ้มครองทันที แม้ว่ากฎหมายลูกยังไม่ออกมาก็ตาม
ด้าน พล.ต.จำลอง กล่าวว่า เราไม่ได้เพิ่งมาเริ่มฟ้อง เพราะคราวก่อนที่ยื่นคำร้องไปนั้นเกิดขึ้นก่อนหน้าที่ กกต.จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งด้วยซ้ำ โดยเราเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ถูกต้องเป็นโมฆะ เพราะทำให้คน 2 ล้านคนไม่มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งๆที่ไปที่หน่วยลงคะแนนแล้ว ครั้งนี้มายื่นคำร้องอีกทีว่า ศาลฎีกาฯ ต้องกรุณารับคำร้องและวินิจฉัยเรื่องนี้ มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่มีหนทางใดที่ประชาชนจะไปยื่นฟ้องต่อศาลได้อีก
"เราพยายามไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 72 ของรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ลงคะแนนไม่ได้ ก็ต้องพยายามใช้สิทธิให้ได้ การจะเลือกตั้งได้ก็ต้องมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ถึงจะยุติธรรมสำหรับเรา และเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไปในการป้องกันกรณีนี้ที่ทำให้คนกว่า 2 ล้านคนเสียสิทธิในการเลือกตั้ง หากศาลฎีกาไม่รับคำร้องก็ต้องรบกวนให้ผู้ใหญ่ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมออกมาแนะนำว่าให้ไปร้องที่ศาลไหน" พล.ต.จำลอง กล่าว