นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ได้เผยแพร่ข้อเสนอแนะของคอป. ที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านเว็บไซต์ของคอป.ว่า ก่อนหน้านี้คอป.ได้ส่งข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยขอให้รัฐบาลชุดใหม่นำข้อเสนอแนะที่ผ่านมาร่วมพิจารณาและนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อสร้างบรรยากาศของความปรองดองตามที่ได้แถลงเป็นนโยบายไว้ด้วย
สำหรับข้อเสนอแนะของคอป.ครั้งล่าสุด ประกอบด้วย 7 ข้อเสนอหลัก คือ 1.รัฐบาลต้องลดความขัดแย้งด้วยการให้ความเป็นธรรมในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเท่าเทียม โดยในส่วนของประชาชนต้องให้มีสิทธิเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์ตามกฎหมาย ขณะที่ต้องมีการผลักดันให้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบทุกฝ่ายที่มีส่วนให้เกิดความรุนแรงรวมถึงเจ้าหน้าที่ต้องเข้าสู่การวินิจฉัยตามกระบวนการยุติธรรมด้วย
2.ขอให้รัฐบาลควบคุมการใช้อำนาจของพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง กลุ่มบุคคล และองค์กรต่างๆ ไม่ให้กระทบกับบรรยากาศของความปรองดอง โดยเฉพาะรัฐบาลเองแม้จะชนะการเลือกตั้งแต่ไม่ลืมว่าส่วนหนึ่งของชัยชนะมาจากการประกาศนโยบายสนับสนุนการปรองดอง ต้องวางตัวเป็นกลางในสายตาของทุกฝ่าย รัฐบาลต้องกำกับการใช้อำนาจด้วยความอดทน จริงใจ
3.เห็นควรพิจารณาดำเนินคดีความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมืองทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49 คดีหมิ่นเบื้องสูง คดีกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ต้องมีการตรวจสอบการแจ้งข้อหาให้ชัดเจน รวมถึงการทบทวนการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินควร และควรสนับสนุนให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวตามสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย
โดยพนักงานสอบสวน อัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาความมีเหตุหลบหนี ทำลายพยานหลักฐาน หรือเป็นอันตรายต่อสังคมหรือไม่ หากไม่มีเหตุดังกล่าวควรมีการยืนยันเพื่อให้สิทธิได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากคดีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง แต่หากไม่ได้รับการปล่อยตัวรัฐบาลก็ควรจัดสถานที่ในการควบคุมอื่นที่เหมาะสมที่ไม่ใช่เรือนจำปกติ เช่นสถานที่ที่เคยใช้กับนักโทษคดีการเมืองในอดีต
4.เห็นควรให้มีการชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างรวดเร็วและจริงจัง โดยต้องมีมาตรการพิเศษที่ไม่ยึดติดกับสิทธิที่มีอยู่ตามกรอบกฎหมายและแนวปฏิบัติของหน่วยงานปกติ กลุ่มเป้าหมายที่ต้องเยียวยาไม่ควรจำกัดแค่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในช่วงเม.ย.-พ.ค.53 แต่ควรครอบคลุมถึงบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 โดยให้รวมถึงประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชน ภาคเอกชน โดยการเยียวยาไม่ควรมีเฉพาะตัวเงินแต่รวมถึงการให้โอกาสในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ
นอกจากนี้รัฐบาลควรจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อทำหน้าที่ในการให้การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างจริงจัง โดยจัดให้มีองค์กรเฉพาะกิจที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานความช่วยเหลือด้านงบประมาณในการเยียวยาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
5. ควรเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมจากการชุมนุม ด้วยการเร่งรัดการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมผู้ที่เกี่ยวข้องที่ถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ โดยตรวจสอบว่าไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินควร ปรับบัญชีรายชื่อผู้ต้องขังและจำเลย เพื่อเยียวกลุ่มที่ตกสำรวจ จ่ายค่าทดแทนแก่จำเลยที่ศาลมีคาพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องแล้ว โดยไม่ต้องพิจารณาว่าศาลได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่ ให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวจำเลยที่ถูกตัดสินลงโทษแล้ว
6. คอป. มีความกังวลต่อสถานการณ์กระทำผิดคดีหมิ่นเบื้องสูงและการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะคดีหมิ่นเบื้องสูงต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนของคดี ทุกฝ่ายต้องยุติการกล่าวอ้างสถาบันเพื่อประโยชน์ทางการเมือง อัยการซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการใช้ดุลพินิจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ ควรใช้ดุลยพินิจสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดี โดยยึดประโยชน์สูงสุดในการปกป้องสถาบัน และขอให้รัฐบาลทบทวนการดาเนินคดีที่นำประเด็นกฎหมายหมิ่นเบื้องสูงมาขยายผลในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง เช่น การกล่าวหาและโฆษณารณรงค์เรื่องขบวนการ "ล้มเจ้า" ซึ่งอาจมีการตีความกฎหมายที่กว้างขวางจนเกินไปและอาจส่งผลต่อความปรองดองในชาติ
7.รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของทุกสังคมในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ผลักดันให้มีการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ อย่างเต็มที่