ภาคีเครือข่ายประชาธิปไตยไม่ละเมิด นำโดยนายชาย ศรีวิกรณ์ พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการลูกจ้างและชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมกว่า 30 ราย เช่น กลุ่มเกษร, โฟร์ซีซั่น, เซ็นทรัลเวิลด์, สยามสแควร์, ประตูน้ำ และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดนำร่างพ.ร.บ.การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะออกมาบังคับใช้โดยเร็ว
พร้อมทบทวนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม โดยตั้งคณะกรรมการเยียวยาวขึ้นมาพิจารณาความเสียหาย ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับค่าชดเชยอย่างเหมาะสม และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ควบคุมการชุมนุมให้อยู่ในกรอบของกฎหมายและข้อตกลงในการจัดการชุมนุมในย่านการค้า 9 ข้อ ตามที่ได้ประชุมร่วมกันอย่างเคร่งครัด โดยมีนพ.ประสิทธิ ชัยวิรัตนะ รองเลขานุการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบ
นายชาย กล่าวว่า การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง และการชุมนุมเรียกร้องต่างๆ ที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสนใจและเร่งดำเนินการ ซึ่งผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนคือพ่อค้าแม่ค้าและผู้ประกอบการรายย่อยสูญเสียรายได้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรสร้างหลักประกันให้ประชาชนได้รับการปกป้องดูแลความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน โดยตรากฎหมายการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะขึ้น เพื่อเป็นการคุ้มครอง ดูแลประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเป็นเหมือนกติการ่วมกันในสังคมให้เกิดความเคารพในสิทธิและเสรีภาพของกันและกัน ทั้งนี้หากมีเครื่องมือและกรอบกติกาชัดเจน สังคมจะเดินหน้าไปได้อย่างปรองดองเพราะทุกคนเคารพกติการ่วมกัน
ทั้งนี้ ยืนยันว่า ข้อเรียกร้องไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นการสร้างบรรทัดฐานเพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสังคมไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อสีอะไร มีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร ก็ควรจะได้รับการคุ้มครองดูแลภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเทียมกัน
ด้านน.พ.ประสิทธิ กล่าวว่า จะหารือกับนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ค้า เช่น เรื่องการพักชำระหนี้, ปลอดดอกเบี้ยเอสเอ็มอี และถอดแบล็คลิสต์จากบัญชีผู้ค้าที่มีปัญหาสภาพคล่องกับธนาคาร ทั้งนี้เตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรม และเกี่ยวกับการประกาศที่ออกโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เพื่อหาแนวทางการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนแก้ผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการต้องการผลักดัน ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ก็สามารถทำได้โดยการล่ารายชื่อจำนวน 1 หมื่น รายชื่อเพื่อเสนอเป็นกฎหมาย