ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ไม่มีอำนาจในการปล่อยตัวผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ที่ถูกคุมขัง แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ทางดีเอสไอต้องทำสำนวนสั่งไม่ฟ้องแล้วส่งให้อัยการพิจารณาว่าจะสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ หากอัยการเห็นด้วยที่จะสั่งไม่ฟ้อง ทางผู้ต้องหาก็ต้องยื่นเรื่องขอประกันตัว หากดีเอสไออยากจะช่วยเหลือก็ทำความเห็นว่าให้ควรได้รับการประกันตัว
ร.ต.อ.เฉลิม ยืนยันว่า คดีของกลุ่ม นปช.ไม่ได้เป็นการก่อการร้าย เพราะกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 วรรคท้าย ระบุชัดเจนว่า เรื่องการก่อการร้าย หากเป็นการชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยก็จะไม่เข้าข่ายความผิดในคดีนี้ ส่วนคดีผู้เสียชีวิตในที่ชุมนุม 13 ศพ เชื่อว่าจะมีความคืบหน้าเร็วๆ นี้
ส่วนกรณีนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์มีข้อเสนอให้ล้มผลพวงของการรัฐประหารปี 2549 นั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้เป็นการทำเพื่อใครคนเดียว เพราะนักวิชาการที่เสนอเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเชื่อว่า หากคิดทำเพื่อคนเพียงคนเดียวก็จะเหมือนการฆ่าตัวตาย และอาจารย์กลุ่มนี้เป็นอาจารย์สมัยใหม่ เข้าใจโครงสร้างประชาธิปไตยเป็นอย่างดี แต่ไม่ทราบว่า อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์จะเข้าร่วมในคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติที่มีนายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน หรือไม่ แต่ควรให้โอกาสคณะกรรมการชุดนี้ทำงานก่อน
ร.ต.อ.เฉลิม ยังสนับสนุน 7 ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน เพราะในหลักการถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแต่อาจจะทำได้ยาก เพราะมีคนบางกลุ่มถวิลหาแต่เผด็จการ
ส่วนข้อกังวลของผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช.ว่าจะไม่ได้รับการเยียวยานั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า หลังจาก ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอของ คอป.แล้ว ก็จะเร่งรีบเยืยวยาให้กับทุกภาคส่วน รวมทั้งกรณีเหตุการณ์กรือเซะ และตากใบด้วย
ร.ต.อ.เฉลิม ยังกล่าวถึงกรณีการติดตั้งกล้องวงจรปิดลวงม็อบของ กทม.ว่า หากนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ลอบยิงร้องเรียนมา ตนเองก็พร้อมที่จะตรวจสอบในเรื่องนี้ให้ แต่หากเกี่ยวข้องกับการทุจริตของกรุงเทพมหานครก็เป็นหน้าที่ของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ที่เป็นผู้กำกับดูแล กทม.