โฆษกรัฐบาลแถลงความคืบหน้าการดำเนินนโยบายของรัฐบาลครบ 1 เดือน

ข่าวการเมือง Monday September 26, 2011 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงการดำเนินงานของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่เข้ามาบริหารราชการครบ 1 เดือน โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนในปีแรกที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาว่า ในด้านการปรองดองและสมานฉันท์ รัฐบาลได้เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ต่อนโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยให้รัฐบาลปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างบรรยากาศปรองดองในชาติ ยึดหลักนิติธรรม เคารพกฎหมาย ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้ความชัดเจนเกี่ยวกับการแจ้งข้อกล่าวหาในการดำเนินคดีอาญา และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อให้เกิดกระบวนการในการสืบสวนสอบสวนอย่างยุติธรรมเป็นไปตามหลักนิติธรรม ทั้งนี้ ให้ดูภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่ก่อนและหลังปฏิวัติ

สำหรับเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นคดีที่มีความละเอียดอ่อนให้ดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อเป็นการปกป้อง เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนข้อเสนอเรื่องชดเชย เยียวยา ฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองนั้น จะเป็นแนวปฏิบัติแบบกว้าง ๆ โดยตั้งกรอบระยะเวลาในการดำเนินการดูแล เยียวยา ฟื้นฟู ซึ่งจะเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง ปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม โดยให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวตามสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลยตามลักษณะและสิทธิ์ของนักโทษ

นอกจากนี้ รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานข้อเสนอของ คอป. เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีเจตนา และมีความจริงใจที่จะทำงานร่วมกับ คอป. เพื่อให้เกิดความปรองดองเกิดขึ้นโดยเร็ว มอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทยเป็นประธานกรรมการคณะกรรมการองค์การอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) โดยมีศ.อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐเป็นไปตามหลักนิติธรรมอย่างแท้จริง

กำหนดให้การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดเป็น "วาระแห่งชาติ" รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ โดยตั้งเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ว่า จะต้องลดปัญหายาเสพติดให้ได้ภายใน 1 ปี

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายการบูรณาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ และแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างเร่งด่วน คำนึงผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชนเป็นหลัก โดยมุ่งเน้นทั้งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เตรียมการระยะยาวตามแนวทาง 2P 2R คือ 1) การเตรียมความพร้อม (Preparation) 2) การเผชิญเหตุที่ดี (Response) 3) การเยียวยาฟื้นฟู (Recovery) เร่งฟื้นฟู ช่วยเหลือเยียวยาดูแลสุขภาพ เยียวยาเรื่องพื้นที่เกษตรกรรมที่เสียหายและ 4) การป้องกันที่ยั่งยืน (Prevention) การวางแผนระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นการบูรณาการทั้งประเทศ

รัฐบาลได้เพิ่มวงเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2554 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรในทุกพื้นที่ของประเทศไม่ว่าจะเป็น ด้านพืช โดยเฉพาะ ข้าว ที่ปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือจากเดิมอัตราไร่ละ 606 บาท เป็นอัตราไร่ละ 2,222 บาท พืชไร่ พืชสวน ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ ฯลฯ ตลอดจนได้เพิ่มวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีกจังหวัดละ 100 ล้านบาท รวมไปถึงการเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาครัวเรือนละ 5,000 บาท

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ประชุมผ่านการสื่อสารทางไกล (Video Conference) จากตึกไทยคู่ฟ้าไปยังศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประจำทุกวันในช่วงเช้า เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยน้ำท่วมจากผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบอุทกภัย และตัวแทนส่วนราชการ ในการเร่งสั่งการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งมอบหมายให้รัฐมนตรีหมุนเวียนกันมาเป็นประธานประชุมเพื่อรายงานสถานการณ์และประเด็นที่แต่ละกระทรวงรับผิดชอบว่าได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง

รัฐบาลเร่งนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยนายกรัฐมนตรีได้จัดให้มีการประชุมเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงทั้งหมดเพื่อหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้อย่างเร่งด่วน โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ยกร่างโครงสร้างการทำงานขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า "ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.กช.)" โดยให้รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เป็นประธาน และให้ ศบ.กช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับกอ. รมน. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา เพื่อรวบรวมข้อมูลนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

ด้านการฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เดินทางเยือนบรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของไทยที่จะร่วมมือกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อความก้าวหน้าของอาเซียน พร้อมย้ำเจตนารมณ์และความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน โดยให้ความสำคัญสูงสุดต่อการรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของประเทศ รัฐบาลสนับสนุนให้บริษัทเอกชนของไทยดำเนินธุรกิจในประเทศกลุ่มอาเซียนด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility - CSR) เร่งเดินหน้าความร่วมมือด้านการเกษตร อุตสาหกรรมอาหารและความมั่นคงด้านอาหาร(Food Security) ด้านสุขภาพ พลังงาน แรงงาน ส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการประชุมสัมมนา นิทรรศการหรืองานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) ตลอดจนร่วมพัฒนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ เทคโนโลยีนวัตกรรม รวมถึงงานวิจัย ระหว่างมิตรประเทศให้มากขึ้น

รัฐบาลได้ทำการปรับลดอัตราการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภทชั่วคราว มีผลตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2554 นี้เป็นต้นไป เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงทันที และปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบให้มุ่งสู่การสะท้อนราคาต้นทุนพลังงาน โดยต้องการช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และรัฐบาลได้สั่งการให้ ปตท. ไปเร่งศึกษาการออกบัตรเครดิตพลังงานให้กับผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้สามารถออกบัตรเครดิตได้ภายในสิ้นปี 2554 โดยกลุ่มเป้าหมายคือแท็กซี่ สามล้อ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และรถตู้สาธารณะ เพื่อให้มีหลักประกันสามารถซื้อพลังงานประเภทต่างๆ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพได้ ซึ่งผู้ประกอบการที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องก็จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ คาดได้ใช้สิ้นปี 54

รัฐบาลยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาครัฐบาล โดยได้ดำเนินการให้ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท อย่างเป็นรูปธรรมทันที จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 เห็นชอบหลักการ "ร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...." ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ คือ ให้ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราวที่บรรจุหรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่กำหนดคุณสมบัติ เฉพาะตำแหน่ง ต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปที่มีอัตราเงินเดือนหรืออัตราจ้างไม่ถึง เดือนละ 15,000 บาท ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อรวมกับเงินเดือนหรือค่าจ้างแล้ว ต้องไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555

รัฐบาลได้มีมาตรการทางภาษีเพื่อลดภาระการลงทุนสำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิตของประชาชนทั่วไป ได้แก่ บ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก โดยคณะรัฐมนตรีมีมตินโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกที่มีผลบังคับใช้ที่ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นการคืนเงินเท่ากับค่าภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคัน

ตลอดจนคณะรัฐมนตรีมีมติการคืนภาษีสำหรับบ้านหลังแรก ที่มีเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2554 เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองโดยยกเว้นเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือ ห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดเป็นไม่เกิน 500,000 บาท

รัฐบาลได้เร่งศึกษาเพื่อกำหนดมาตรการวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา 2-3 ปี สำหรับบ้านราคา 1-2 ล้านบาท เพื่อเป็นมาตรการเสริมจากโครงการบ้านหลังแรก โดยจะครอบคลุมบ้านมือสอง สินทรัพย์รอ การขาย (NPA) ของสถาบันการเงิน และบ้านหลังแรก โดยจัดสรรวงเงินสินเชื่อไว้ราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งมีธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นผู้ดำเนินการ ตลอดจนปรับปรุงการลดค่าธรรมเนียมในการ จดจำนองและค่าโอน ให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

รัฐบาลดำเนินการยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพที่เหมาะสม คำนึงถึงกลไกราคาตลาดโลก โดยใช้วิธีบริหารจัดการทางการตลาดและกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้า รัฐบาลได้นำระบบรับจำนำสินค้าเกษตรมาใช้ในการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร เริ่มต้นจากการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ที่ราคาเกวียนละ 15,000 บาท และ 20,000 บาทตามลำดับในฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวรอบปี 2554/55 ซึ่งสามารถเริ่มโครงการได้ภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ตลอดจนบูรณาการและปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าวให้เกิดความสุจริต โปร่งใส มีการตรวจสอบที่ชัดเจน เกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกร ปรับปรุงแก้ไขโครงการรับจำนำข้าวให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อคืนความเสมอภาคให้เกษตรกรให้ได้ราคามีความเป็นธรรม ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ส่งเสริมรากฐานที่แข็งแรงของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ