คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ(กนจ.) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน อนุมัติงบประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้สำหรับพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พร้อมทั้งสั่งเร่งรัดการจัดทำงบประมาณในปี 56 ทันที เพื่อแก้ปัญหาติดขัดเรื่องกรอบเวลา
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบกรอบงบประมาณเพื่อใช้สำหรับพัฒนาจังหวัดฯ จำนวน 18,200 ล้านบาท ตามที่ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบงบประมาณพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเสนอ
โดยกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณดังนี้ 1.ในพื้นที่หรือในจังหวัดที่มีประชาชนจำนวนมากจะได้งบประมาณมาก จังหวัดที่มีประชาชนจำนวนน้อยได้งบประมาณน้อย 2.จังหวัดที่ประชาชนมีรายได้น้อยจะได้งบพัฒนามาก ส่วนจังหวัดที่มีประชาชนรายได้มากจะได้งบประมาณในการพัฒนาน้อย และ 3.จังหวัดใดที่เก็บภาษีได้มากจะได้งบพัฒนามาก จังหวัดใดเก็บภาษีใดน้อยจะได้งบน้อย
ทั้งนี้ให้แต่ละจังหวัดนำแผนงานในปีงบประมาณ 55 ที่จัดทำมาแล้วกลับไปจัดทำเพิ่มเติม โดยให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 5 ต.ค.นี้
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ตั้งข้อสังเกตว่าการจัดทำงบประมาณนั้นติดขัดในเรื่องกรอบระยะเวลามาโดยตลอด ดังนั้นรัฐบาลจึงตั้งโครงการไว้ว่าจะเริ่มจัดสรรงบประมาณปี 56 ในทันที ซึ่ง นพ.สุรวิทย์ มีแนวคิดหลักการในการจัดสรรงบประมาณโดยมีการประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์พร้อมกันในทุกจังหวัด ซึ่งมี 3 ยุทธศาสตร์ คือ1.ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับน้ำ โดยจะเชิญนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและข้าราชการที่เกี่ยวข้องมาประชุม 2.ยุทธศาสตร์ถนนโดยจะเชิญนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและข้าราชการที่เกี่ยวข้องมาประชุม และ 3.ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบการเกษตรในประเทศ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ตั้งข้อสังเกตในการทำงานที่ผ่านมายังขาดการบูรณาการ ต่างคนต่างทำ ดังนั้นต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันฝีมือแรงงานไทยสู่ประชาคมอาเซียน โดยให้นโยบายในการทำงานไว้ 9 ข้อ คือ 1.ให้ทุกหน่วยงานทำงานอย่างบูรณาการอย่างเข้าใจ ทำร่วมกันทุกหน่วยงาน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือต่างคนต่างองค์กรต่างทำ เช่น กรณีน้ำท่วม บางจังหวัดทำผนังกั้นน้ำไม่ให้เข้าในพื้นที่ตนเอง แต่ไปท่วมในจังหวัดอื่น 2.ต้องร่วมคิดร่วมทำ ร่วมเป็นเจ้าภาพร่วมกัน เกิดการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน 3.การทำงานในส่วนการและส่วนพื้นที่ต้องสอดรับประสานแต่ละส่วนให้มีความสำคัญเท่าๆกัน
4.สร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น 5.น้อมนำพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถในการปราบปรามยาเสพติด 6.พัฒนาศักยภาพแรงงานเด็กและสตรี ส่งเสริมศักยภาพแรงงานฝีมือคุณภาพดี ทักษะสูง เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้น
7.สร้างรายได้ในภาพรวมที่จะเกิดขึ้นทั้งระบบต่อการสร้างรายได้ให้กับประชาชน เงินในกระเป๋าต้องเพิ่มขึ้น ตามหลักการของรัฐบาลในการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส 8.ส่งเสริมการท่องเที่ยว เสริมสร้างการทำธุรกิจโอท็อปให้เป็นสินค้าที่เป็นความภาคภูมิใจของท้องถิ่น และ 9.พัฒนากระบวนการในการประเมินผลและพัฒนาจุดชี้วัดความพึงพอในของประชาชนอีกด้วย