ปชป.ยันบ้านหลังแรกเอื้อธุรกิจ SC-ปัดกดดันอัยการกรณีไม่ฎีกาคดีหุ้นชินฯ

ข่าวการเมือง Saturday October 1, 2011 12:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า การทำงานของพรรคที่ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีออกมาตรการบ้านหลังแรกเอื้อเอกชน เนื่องจากการกำหนดราคาบ้านไม่เกิน 5 ล้านบาทไม่ใช่ช่วยผู้มีรายได้น้อย เพราะผู้จะมีสิทธิในบ้านดังกล่าว ต้องมีรายได้ตั้งแต่เดือนละ 50,000-100,000 บาท ถือเป็นการช่วยคนรวยมากกว่า

ทั้งนี้การทำงานของฝ่ายกฎหมายเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต เปิดเผยตามกฎหมายทุกประการ เพราะเชื่อโดยสุจริตใจว่าเป็นกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะนายกรัฐมนตรีเคยเป็นผู้บริหารของ บมจ.เอสซีแอสเซส คอร์ปอเรชั่น (SC) มานาน ย่อมทราบความเคลื่อนไหวในบริษัทเป็นอย่างดี

"นอกจากนี้บริษัทเอสซีแอสเสทฯ ได้โฆษณาขึ้นเว็บไซต์ว่าผู้ซื้อจะได้ประโยชน์จากโครงการบ้านหลังแรกของรัฐบาล สำคัญไปกว่านั้นได้มีการปรับราคาจาก 3 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาท ชัดเจนว่าเป็นกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน แม้นายกรัฐมนตรีจะอ้างว่าไม่ทราบ ไม่รู้เรื่อง ตามที่นายกรัฐมนตรีใช้มุกนี้ออกมาเล่นบ่อย ๆ" นายวิรัตน์ กล่าว

ส่วนการที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำงานไม่สร้างสรรค์และกดดันการทำงานของอัยการสูงสุด ทั้งที่การสั่งไม่ฎีกาคดีเลี่ยงภาษีขายหุ้นชินคอร์ปของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ดำเนินการโดยชอบแล้วนั้น ยืนยันว่าเป็นการทำงานบนเหตุผล เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาตรงข้ามกับความเห็ยอัยการที่เคยสั่งฟ้องในตอนแรก แต่กลับมาไม่ฎีกาในคดีนี้

"อยากถามนายพร้อมพงศ์ว่าเห็นสำนวนหรือความเห็นของอัยการหรือยัง จึงกล้าออกมายืนยันว่าที่ไม่ฎีกานั้นถูกต้อง...กรณีนี้ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องข้อหาให้การเท็จ โดยอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานที่ไม่ชอบ ทำให้คำให้การต่อเจ้าพนักงานที่ไม่ชอบ ย่อมไม่เป็นการให้การเท็จ ตรงนี้เป็นข้อกฎหมายที่อัยการต้องให้ศาลสูงสุดเป็นผู้วางบรรทัดฐานว่าข้อเท็จจริงคืออะไร นอกจากนี้อธิบดีศาลอุทธรณ์ทำความเห็นแย้ง แปลว่าความเห็นของศาลอุทธรณ์ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในทางปฏิบัติเมื่อเห็นแย้ง ต้องส่งศาลสูงสุดพิจารณาอีกทีหนึ่ง" นายวิรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้คดีนี้ประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก ดังนั้น การที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ขอเอกสารจากอัยการสูงสุด จึงไม่ได้เป็นการกดดันอัยการ แต่เป็นการขอความความร่วมมือในฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร รวมทั้งองค์กรอิสระ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ