นักวิชาการสหรัฐเชื่อ'ขบวนการยึดวอลล์สตรีท'จะเปลี่ยนโฉมรัฐบาล

ข่าวต่างประเทศ Friday October 7, 2011 14:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิชาการสหรัฐหลายรายคาดว่า ขบวนการ “ยึดวอลล์ สตรีท" (Occupy Wall Street) ที่เกิดขึ้นในหลายเมืองของสหรัฐและได้รับการหนุนหลังจากสหภาพแรงงานต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อฝ่ายกำหนดนโยบาย พร้อมกับบีบให้บุคคลกลุ่มนี้กำหนดมาตรการที่ถูกต้อง

จีน โคเฮน อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า ขบวนการยึดวอลล์สตรีทเป็นความเคลื่อนไหวที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่วอลล์สตรีทและรัฐบาล

“ฉันคิดว่าการประท้วงจะดำเนินต่อไปและขยายวงกว้างออกไปอีก โดยไม่ต้องเป็นห่วงเลยว่าพวกเขาจะไม่มีผู้นำ ทั้งเป้าหมายและความต้องการก็แตกต่างกัน พวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่พรรคการเมืองที่แสวงหาอำนาจ แต่เป็นความเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อแสวงหาอิทธิพล" โคเฮนกล่าว พร้อมเสริมว่า “การประท้วงครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อต่อต้านรัฐบาล แต่เพื่อให้รัฐบาลมีความรับผิดชอบ"

โคเฮนยังระบุด้วยว่า เป้าหมายของการประท้วง คือ โค่นล้มนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งพวกเขามองว่านำมาสู่ “หายนะ" และกำลัง “ทำลาย" โครงสร้างทางสังคมอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้เธอยังเชื่อว่า การประท้วงครั้งนี้จะผลักดันให้ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสม เช่น การลงทุนครั้งใหญ่เพื่ออนาคตของประเทศ เช่น สาธารณูปโภคพื้นฐาน การจ้างงาน การศึกษา สาธารณสุข อุตสาหกรรมใหม่ๆ เป็นต้น

ขณะที่ จอห์น ดิงเกส อาจารย์ด้านวารสารศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยเดียวกัน มองว่า การประท้วงอาจจะส่งผลดีต่อการหาเสียงของประธานาธิบดีบารัค โอบามาในศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ของ หากเขา “รับฟังและปฏิบัติตาม"

“โดยพื้นฐานแล้ว การประท้วงครั้งนี้เปิดช่องว่างให้เขากลายเป็นบุคคลที่มีเหตุผล ปกป้องชนชั้นกลางด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ" ดิงเกสกล่าวพร้อมเสริมว่า “สิ่งนี้จะทำให้เขาได้เข้ามาอยู่ตรงใจกลาง ซึ่งมักจะเป็นวิธีการที่โอบามาใช้เพื่อเข้าถึงแวดวงการเมืองของสหรัฐอยู่เสมอ"

ขณะที่โรเบิร์ต วาย ชาพิโร อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบียอีกราย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า สถานการณ์อาจจะทำให้โอบามากวาดคะแนนนิยมขึ้นมาในหมู่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

ชาริโรยังบอกด้วยว่า หากการประท้วงขยายตัวออกไปก็จะยิ่งเป็นการสนับสนุนนโยบายเสรีนิยม และผลักดันให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งขยับเข้าไปอยู่ฝ่ายซ้ายของพรรครีพับลิกัน

ส่วน วิคเตอร์ นาวาสกี อาจารย์ด้านวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า “ประชาชน สมาชิกสภาคองเกรส ฝ่ายบริหาร และตัววอลล์สตรีทเองต่างก็รับรู้สัญญาณที่มีเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีแต่จะส่งผลดี"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ