นายกฯ สั่งตั้งคณะทำงานบูรณาการแก้น้ำท่วม 10 จ.,ป้องกันดูแลพื้นที่ ศก.

ข่าวการเมือง Sunday October 9, 2011 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) กล่าวว่า ได้สั่งตั้งคณะทำงานเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมร่วมกันในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์, อุทัยธานี, ชัยนาท, ลพบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, ฉะเชิงเทรา, ปทุมธานี และนนทบุรี ให้สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างแท้จริง

"วันนี้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน มี 10 จังหวัด เน้นความสัมพันธ์ร่วมกัน ตั้งแต่กรมชลประทาน กองทัพ ส่วนท้องถิ่น เพื่อให้น้ำไหลออกทะเลเร็วที่สุด และรับผิดชอบอพยพประชาชนให้เร็วที่สุด" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากให้แต่ละจังหวัดมีผู้รับผิดชอบสั่งการเพียงคนเดียว เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจและสั่งการได้ในทันทีว่าจะต้องมีการทำคันกั้นน้ำ หรือจะต้องอพยพประชาชน รวมทั้งให้มีการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานที่จะมีการสำรวจพื้นที่ เพื่อปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดและจะต้องมีการสำรวจพื้นที่การปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจ โดยให้มีผู้แทนจากส่วนกลางให้ประสานกับผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด เพื่อให้มีการเสนอแผนเพื่อให้นำมาพิจารณาในการประชุมในเวลา 18.00 น.ที่จะมีการประชุม ศปภ.

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องเตรียมตัวรับกับพายุลูกใหม่ พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ เรื่อยลงมา โดยอยากให้มีการจัดวางลำดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน โดยเห็นว่าพื้นที่ในตัวเมืองที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจจะต้องปกป้อง โดยมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราอย่างเคร่งครัด แต่อันไหนที่ปกป้องไม่ได้ให้อพยพอย่างเดียว มิฉะนั้นจะเสียกำลังไปปกป้องโดยเปล่าประโยชน์

"บริเวณใดที่ไม่สามารถรองรับน้ำได้ให้อพยพประชาชนออกมาจากพื้นที่ทันที เพื่อความสะดวกในการดูแล ส่วนพื้นที่เขตเศรษฐกิจและและตัวเมืองต้องปกป้องให้ดีที่สุด" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่สำคัญแนวคันกั้นน้ำรอบนิคมอุตสาหกรรมโรจนะไม่แข็งแรงเพราะเป็นคันดิน จึงมอบให้ รมว.อุตสาหกรรม นำหินคลุกเข้ามาเสริมเพื่อความแข็งแรงตรงนี้ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเสริมที่เคร่งครัดลงไปในพื้นที่

ส่วยนกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่าบางหน่วยงานประเมินสถานการณ์น้ำท่วมผิดพลาดนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ใช่ประเมินผิดพลาด เพราะลักษณะทางน้ำนั้นเรามองตั้งแต่ภาคเหนือลงมา และมองเรื่องเขื่อนต่างๆที่รับน้ำ ไม่ได้มองผลกระทบว่าบางครั้งน้ำที่ลงมานั้น ลงไปยังพื้นที่ที่อุ้มน้ำไม่ได้ จะแผ่กระจายอย่างไร ซึ่งตรงนี้เราไม่ทราบ สิ่งที่ประชาชนพบนั้นคือน้ำที่แผ่กระจาย

"ส่วนหนึ่งประชาชนตกใจจึงสร้างคันกั้นน้ำปกป้องพื้นที่ตัวเองทำให้เกิดการขวางทางน้ำไหลจึงเป็นอุปสรรค และบางพื้นที่ส่วนราชการไปกั้นไว้ ประชาชนก็ไปทำลาย มันจึงทำให้น้ำเข้ามา" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ